รับมือกับความเจ็บป่วยและดูแลมะเร็ง อย่างมีสุขภาวะด้วยสติและการรู้เท่าทันตัวเอง

สัมภาษณ์ อรทัย ชะฟู เจ้าของหนังสือ “ วันนี้คือของขวัญที่ดีที่สุด” และ “ ความรักอยู่รอบตัวเรา” ประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับมะเร็ง
มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เป็นมะเร็งที่ปอด อยู่ 3 ปี เมื่ออายุได้ 32 ปี วิ่งร่อนหาทางรักษาทุกๆ แบบทั้งทำ คีโม และแพทย์ทางเลือกทุกๆ ทาง เวลาแบบนั้นมันทำให้เรากลัวมาก ใครมาเสนออะไรก็ทำ ก็เลือก ซื้อยาบำรุง หินบำบัด ราคาแพงๆ ก็ซื้อหมด ไปหาพระ หาเจ้า หาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็ต้องไปหาจิตแพทย์ด้วย เพราะเครียด ซึมเศร้า กลัวไม่อยากมีชีวิตอยู่เป็นคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ อยากฆ่าตัวตาย นอนไม่หลับ แล้วจิตแพทย์ก็เลยช่วยรักษา ให้ยาแล้วก็หลับได้ หลับตลอด พอตื่นก็เบลอๆ สมองจำอะไรไม่ได้ เดินเหมือนคนไม่มีสติ พอเริ่มหลับยากขึ้น จิตแพทย์ก็เพิ่มปริมาณยาให้หลับขึ้นอีก ทำให้หลับมากเกิน จนคนใกล้ชิดบอกว่าต้องเลิกแล้ว

จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจโยคะและการเจริญสติ
หลายคนพูดถึงประโยชน์ของโยคะ ก็เลยรู้สึกท้าทายเลยลองฝึก ฝึกช่วงแรกก็ฝืนตัวเองมาก เคยเห็นครูเกดสอนในทีวีก็ทำตามบ้าง จนครูมาอยู่เชียงราย เห็นครูมาทานข้าวที่ร้านมังสวิรัติก็ได้รู้จักกันจริงๆ
พอได้ยินว่าครูจะเปิดสอนที่โรงพยาบาลก็เลยลองไปเรียน
แต่ก็ไม่ชอบเพราะเห็นมันช้ารู้สึกทางเลือกไม่มี โยคะน่าเบื่อ แล้วมีท่าศพด้วย ไม่ชอบเลย ครูเกดแนะนำให้เรียนส่วนตัว เพราะต้องดูแลเป็นพิเศษ และเมื่อได้เรียนกับครู
อย่างสม่ำเสมอ และทำงานด้านในร่วมกันอยู่ 2-3 ปี ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะทางด้านจิตใจ และส่วนของร่างกายเอง ได้เรียนรู้ว่าต้องช้าลง แม้นิสัยจะไม่ชอบทำอะไรช้า แต่พอลุกเร็วๆ เมื่อไหร่จะเสร็จ หน้ามืด ครูต้องจับตัวไว้ โยคะของครูสอนให้ฟังเสียงร่างกาย สอนให้เฝ้าดูความตึง เจ็บ เครียด อย่างผ่อนคลาย ไม่ทำอะไรมากไป น้อยไป โดยเฉพาะกับตัวเองนิสัยปกติคือมักจะทำอะไรมากไปและเร็วไปเสมอ

2.ได้อะไรจากการฝึกโยคะแห่งสติ
หลายคนคิดว่าเรียนกับครูนาน ต้องทำท่าเก่ง สวย ตัวอ่อนแน่นอน แต่ไม่ใช่ เพราะร่างกายเราไม่พร้อมแบบนั้น เคลื่อนหนักๆ เหมือนคนอื่นไม่ได้ เจ็บหน้าอก ครูจะเลือกแบบการสอนที่เหมาะกับเรา ครูไม่ได้เน้นว่าต้องทำท่าที่ถูกต้อง งดงาม อ่อนช้อยอะไรมากมาย เพราะแก่นแท้ในการฝึกโยคะไม่ใช่สิ่งนั้น แต่เรียนรู้ที่จะสงบนิ่ง ยอมรับ และอยู่กับความจริงอย่างผ่อนคลาย ครูเน้นเรื่องการผ่อนคลายมากทั้งกายและจิต การฝึกสติด้วยการเคลื่อนไหวกาย การฝึกลมหายใจ ที่เห็นชัดๆ คือมันก็ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น เส้นเอ็นคลายตัว รู้วิธีจัดการกับตัวเองเมื่อความโกรธเกิดขึ้น .
สิ่งที่ได้จากโยคะ คือค่อยๆ เห็นความจริงของชีวิตที่ชัดเจน จากปลายจมูกของเรา สังเกต เฝ้ามอง รับรู้ความรู้สึกเมื่อก่อนจะหงุดหงิดนะกับคำเหล่านี้ ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องสังเกต เฝ้ามองรับรู้ความรู้สึก และก็ไม่ค่อยเห็นเพราะช้าไม่ได้ แต่ก็ไม่รู้ว่ารีบไปทำไม เราให้ความรู้สึกกับคำว่าช้าแบบลบๆ ยืดยาด เฉื่อยชา อ่อนแอ ไม่มีประสิทธิภาพ เราเลยไม่เห็นความงามของชีวิต โยคะทำให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะกลับมารับรู้ ยอมรับจากการสังเกต เฝ้ามอง ที่สำคัญสุขภาพกายกับจิตเราดีขึ้นตอนหลัง ช่วงนั้นหมอชมว่าปอดดีมาก ไม่มีการขยายตัวของเนื้อร้าย เพราะดำรงจิตได้เป็นปกติดีมากกว่า

3. ประโยชน์ที่ได้จากการศึกษาตัวเองผ่านนพลักษณ์

จิ๋มได้เรียนรู้จักตัวเราเองฟังดูอาจจะธรรมดา เมื่อก่อนเราก็คิดว่าเรารู้จักตัวเราเองแต่แท้จริงแล้วหลอกตัวเอง เรารู้จักตัวเราเองแค่ผิวๆไม่เข้าใจ ถ้าเรารู้จักเข้าใจตัวเรา เราต้องเข้าใจคนอื่นด้วย และการรู้จักตัวเอง เมื่อก่อนเราจะลุยไม่กลัวใคร ต้องเข้มแข็ง จนแข็งกระด้าง ไม่ได้อ่อนโยนกับชีวิตจนเป็นสาเหตุแห่งโรคภัย ขอโทษ ขอบคุณ ขออภัย นั้นพูดไม่เป็น แค้นนี้ต้องชำระ ครูเห็นบุคลิกภาพนี้ของเราด้วย ครูจึงแนะนำให้เราศึกษาตัวเองลงลึก จริงๆ แล้วไม่มีใครสามารถทำร้ายเราได้หรอกถ้าเราไม่ทำร้ายตัวเราเอง ศัตรูที่แท้ก็คือตัวเราไม่ใช่คนอื่น แต่เราจมปลักอยู่กับความแค้น ยืนยันชัดเจนกับความคิด ความจริงของเราเชื่อมั่นมาก แต่มันก็แปลกนะพอเราเริ่มเข้าใจตัวเราเราก็เริ่มเข้าใจคนอื่นๆ และยอมรับในความแตกต่าง

4. ครูเกดนำนพลักษณ์และโยคะมาใช้กับสภาวะร่างกายและจิตใจเราอย่างไร
นพลักษณ์ทำให้รู้จักตัวเองในมุมต่างๆ ที่เราไม่รู้ โดยเฉพาะปมต่างๆ ที่ติดอยู่ในจิตใจ ส่วนวิธีการของโยคะของครูช่วยให้เรา ทำอะไรให้ช้าลง อยู่กับร่างกายและปัจจุบัน มีความรู้สึกตัว ไม่โต้ตอบทันที จับอารมณ์ การกระทำได้ชัดขึ้น รู้เท่าทันการกระทำ เมื่อติดขัดตรงไหนก็จะคุยกับครู แลกเปลี่ยน ปัญหาด้านจิตใจและทำงานกับมันเสมอ กับการตามดูตัวเองครูให้จดบันทึกทุกๆ วัน ถึงอารมณ์ ความรู้สึก การกระทำ ต่อเหตุการณ์ในแต่ละวันที่ทำให้ตัวเอง โกรธ ทุกข์ เพราะมันเป็นกิเลสหลักของเรา และเรียนรู้วิธีช้าลง เฝ้าดูไม่กระทำ จากประสบการณ์จริงในการใช้ชีวิตด้วย หากเมื่อไหร่เราโกรธ เครียด ร่างกายก็จะฟ้อง อาการต่างๆ ที่แย่จะตามมา

แล้วก่อนที่จะมาเรียนกับครูมักจะนอนฝันร้ายเกี่ยวกับเรื่องติดค้างในวัย เด็ก ต่อสู้ดิ้นรน ชก เตะ ต่อย ก็มี หรือนอนไม่หลับ แต่เมื่อได้มาศึกษานพลักษณ์และโยคะปัญหาเหล่านี้ลดลง และหายไป อาจมีบ้างในวันที่จิตใจแย่ จึงต้องพึงดำรงจิตให้ปกติ ให้ได้ ครูสอนให้หายใจลึก ให้ได้หลายรอบก่อนจะโต้ตอบอะไรออกไป ให้ฝึกเจริญสติอยู่กับทุกช่วงขณะ
ทำงานมือ เช่นวาดรูป ปักผ้า และการจดบันทึกช่วยให้เราชัดเจนกับตัวเองมากขึ้น และพฤติกรรมเดิมๆ ลดน้อยลง ฝึกดูจิตและฟังเสียงร่างกายอยู่เสมอทุกวัน
การศึกษาทั้งสองอย่างนี้ทำให้เราพัฒนาศักยภาพตัวเอง ไม่อยู่ในข้อจำกัดของตัวเองเสริมทักษะ
จังหวะชีวิตให้รื่นรมย์ ทุกวันนี้แม้จะไม่ได้เรียนกับครูแล้ว เพราะครูบอกว่าไม่มีอะไรต้องเรียนแล้ว เหลือแต่ว่าต้องไปลุยในสนามจริง ช่วยคนอื่นต่อตามเหตุปัจจัย แต่ต้องไม่ลืมดูแลตัวเอง ไม่ประมาท
คนรอบข้างบอกว่า เราไม่เหมือนคนป่วยเลย เรายิ้มง่าย มันไม่ได้เปลี่ยนชั่วข้ามคืน เมื่อก่อน กลัวนะที่จะให้คนอื่นรู้ว่าป่วย ไม่ต้องการความสงสาร รู้สึกมากว่าคนป่วยคือคนอ่อนแอ

มาตอนนี้เรายอมรับการพึ่งพา ช่วยเหลือจากผู้อื่น เรายอมรับความเจ็บป่วย ยอมรับตัวเอง ยอมรับคนอื่นได้ง่ายขึ้นกว่าเมื่อก่อน ประคับประคองอารมณ์ไม่ให้หดหู่หรือสิ้นหวัง พอใจกับความสุขในวันนี้
การเป็นมะเร็งไม่ใช่จุดจบชีวิตเราเสมอไป แต่เป็นการเริ่มต้นใหม่ของชีวิต นี่คือสัญญาณและเสียง
เรียกร้องที่ดังที่สุดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิต มันคงอาจจะไม่ใช่ความบังเอิญ
เราขอบคุณชีวิตมาก ที่ให้ของขวัญกับเราเมื่อเราเจ็บปวด ขอบคุณครูเกดซึ่งเป็นคนแรกในชีวิตที่กอดเรา เป็นคนที่ให้พลังความรู้สึกที่ดีต่อชีวิต เรียนรู้ความอ่อนโยนในตัวเอง
ทุกวันนี้มีความสุขง่ายขึ้น แม้กระทั่งสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ยิ้มกับคนแปลกหน้า บอกทางนักท่องเที่ยว ฟังความทุกข์ของคนที่ต้องการการระบาย….

6. กับประสบการณ์ที่อยู่กับมะเร็งมา 7 ปี จับหลักหรือแก่นสำคัญในการดูแลสุขภาพว่าอย่างไร ?
การที่มีจิตใจที่ดี สามารถ เยียวยาโรคได้ หมอที่เก่งที่สุด คือตัวเราเอง……
แต่ก่อนที่เราจะเป็นหมอที่เก่งเราต้องรู้จักตัวเราเองก่อน
เชื่อมั่นศรัทธา ตัวเอง ปล่อยวางและอยู่อย่างมีความหมาย……..
ทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงตัวเอง ทำทุกวันเป็นวันแห่งความสุข…เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็งและโรคเรื้อรัง อื่นๆ แม้คนที่เรารู้สึกว่าเป็นศัตรูกับเรา เราก็ทำงานคลายปมตัวเองและให้ความกรุณาคนเหล่านั้นได้ เพื่อให้เขาอยู่กับโรคแบบไม่ทุกข์ทรมานและมีความสุข ว้าว……

ชีวิตจะมีความสุขหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมุมมองของเรา มุมมองสำคัญคือการไม่เห็นความเจ็บป่วยหรือกระทั่งความตายเป็น “ศัตรู”อีกต่อไปความเจ็บป่วย เป็นเหมือนของขวัญของชีวิต เป็นสัญญานช่วยให้เราได้ทบทวนชีวิตความเป็นอยู่ โรคร้ายอาจนำพาชีวิตให้เราเห็นมุมมอง
ใหม่ และใช้ชีวิตอย่างมีความหมายกว่าที่เคยเป็น และความตายไม่ใช่ปลายทางที่น่ากลัว หากเป็นสติที่ยิ่งใหญ่ในการ ตั้งคำถามว่า จะใช้ชีวิตอย่างไรเพื่อวันสุดท้ายที่จะมาถึงในไม่ช้าและเป็นวันงดงามสำหรับเรา

อรทัย ชะฟู ผู้เขียนหนังสือ “ วันนี้คือของขวัญของชีวิต”
ประสบการณ์การเป็นมะเร็ง และการดูแลผุ้ป่วยระยะสุดท้าย

Leave a Reply

Your Email address address will not be published. Required fields are marked *