ใบไม้ร่วงไป ผลิใบใหม่ที่งดงาม โดย เกศสุดา ชาตยานนท์ บุญงามอนงค์

ทุกๆ การจากไปของสรรพสิ่ง มีการเกิดขึ้นใหม่ตามมาเสมอ วัฎจักรเหล่านี้หมุนเปลี่ยนเวียนผ่านเป็นวิถีธรรมชาติ ทุกปรากฎการณ์มีปัจจัยก่อเกิดให้มนุษย์ได้เรียนรู้ ดำรง ตระหนัก ถึงการเกิดใหม่ การเปลี่ยนแปลงและจากไปของสรรพสิ่ง

การเปลี่ยนแปลงหลายๆครั้งในชีวิต อาจนำทั้งความสุข รอยยิ้ม ความยินดี ปรีดาหรือนำความพลัดพราก โศกเศร้า สูญเสียระทมทุกข์มาให้ ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ที่พอใจทั้งหลายเป็นความทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความท้อแท้ใจทั้งหลายเป็นความทุกข์

ทุกชีวิตในโลกไม่ว่าจะเกิดแห่งหนใด เชื้อชาติไหน ศาสนาอะไร ร่ำรวยหรือยากจน ทุกคนล้วนปรารถนาซึ่งความสุขกาย สบายใจ ต้องการการยอมรับ ต้องการความรักและกำลังใจ มีความคิดนึก ความรู้สึกและความต้องการพื้นฐานเหมือนๆ กัน

มนุษย์จำนวนมากย่อมรู้สึกสั่นสะเทือนเสมอเมื่อรับรู้ถึงความสูญเสียของคนรอบตัว เพราะรู้ถึงสภาวะของตัวเองเมื่อประสบถึงความพลัดพรากและสูญเสีย ในหลายมุมโลกเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ซึ่งนำมาซึ่งความสูญเสียทุกระดับ ระดับความรุนแรงในโลกนี้เกิดขึ้นทุกๆ นาที ตั้งแต่ในมุมเล็กๆ จนกระทั่งสงครามโลก

เรามีสงครามที่มนุษย์ผู้ต้องการความสุขสร้างขึ้นโดยขาดความตระหนักในสภาวะสั่นทะเทือนของจิตใจเมื่อสูญเสีย ไม่นับรวมสภาวะรุนแรงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ที่มนุษย์จัดการไม่ได้ หากเราให้เด็กๆ พูดถึงโลกที่เขาอยากได้ หรือให้ผู้ใหญ่ได้ฝันถึง ทุกคนล้วนต้องการโลกใบงาม โลกที่ทุกคนเข้าใจกัน รักกัน เกื้อกูล แบ่งปัน เป็นโลกแห่งสันติสุขกันทั้งนั้น

สันติสุขคือสภาวะที่มนุษย์รู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง ความไหลเลื่อนเนื่องไปของชีวิตไม่มีความคิด ที่จะแบ่งแยกเรา แยกเขา ไม่มีคำว่าผิวขาว ผิวเหลือง ผิวดำ ไม่มีความต่างของเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม รู้สึกตระหนักถึงความหลากหลายในธรรมชาติ รู้สุขร่วมทุกข์ระหว่างกัน

ณ ดินแดนที่ความสูญเสียมาเยือน ก่อเกิดชุมชนแห่งสันติสุข ชุมชนแห่งการหยิบยื่นเข้ามาแทนที่ หลังจากเหตุการณ์สึนามิ ศูนย์อาสาสมัครสึนามิ ที่เขาหลักเนเจอร์รีสอร์ท จังหวัดพังงา เกิดขึ้นเพื่อรองรับความรู้สึกร่วมกันในความสูญเสียของคนจากทุกๆ แห่งทั้งไทยและต่างประเทศ ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประสบภัย กำลังคนเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือเมื่อเกิดวิกฤต พลังคนที่แตกต่าง มีศักยภาพหลายๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นพลังสมอง สติปัญญา ประสบการณ์ โดยเฉพาะจิตใจที่ยิ่งใหญ่พร้อมจะลงมือหยิบยื่น แบ่งปันและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ร่วมกัน

ทุกๆ เช้าของคนที่นี่เป็นเช้าวันใหม่ที่มีความหวัง กระปรี้กระเปร่า แจ่มใสและมีกำลังใจเต็มเปี่ยม
หลายๆ คนอยากจะมีชีวิตอยู่เช่นนี้ โดยไม่ต้องห่วงกังวลว่าตัวเองจะต้องมุ่งทำงานหาเงิน สร้างชื่อเสียงความสำเร็จ ความมั่นคงทางสังคม การได้มาช่วยกันทำงานที่นี่คนละไม้คนมือ ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น วรรณะ ระดับงาน ทุกคนต่างเป็นผู้ให้ เป็นผู้รับและเป็นร่วมประสานพลังอย่างกลมเกลียว อาสาสมัครหญิงชาวออสเตรเลีย อายุ 70 ปี
Mrs.Marry Jackson ,Interior design consultant หญิงสูงวัย ที่คนที่นี่ให้ฉายาว่า Jame Marry เพราะรถที่ป้า Marry ใช้อยู่เป็นรถรุ่นเดียวกับ ที่ Jame Bond ใช้ เธอไม่มีแววของคนอายุ 70 ยังคงความสง่างามในบุคลิกท่าทาง เธอเดินทางมาแล้วรอบโลก ศรัทธาในพุทธศาสนาแบบมหายานผ่านท่านดาไลลามะ Marry บอกว่า ตลอดชีวิต

70 ปีของคุณแมรี่ ได้เจอคนที่มีชื่อเสียง เงินทองหลายคนในชีวิต แต่ไม่เคยเห็นอะไรที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นชีวิตที่ยิ่งใหญ่ ชีวิตที่มีแต่จะให้ ไม่แบ่งแยกฐานะ เสื้อผ้าการแต่งตัว ทุกคนทุกชาติรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว ร่วมจิตรวมใจทำงานเพื่อผู้อื่นกันอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยในสถานที่แห่งนี้

ประสบการณ์การเรียนรู้ที่นี่เป็นความประทับใจและภาคภูมิใจของอาสาสมัคร อาสาสมัครหลายคนที่กลับไปแล้ว ก็อยากจะกลับมาอีก อาสาสมัครชาวต่างชาติหลายคนอุทิศตนเป็นเดือนๆ เพื่อการช่วยเหลือ การทำงานที่ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ที่ที่การให้ ได้ปลดปล่อยให้ตนเป็นสุข ไม่ผูกพัน ไม่ต้องการว่าใครจะรับรู้ เพราะผู้ให้รู้ว่าตัวเองเป็นเหตุและปัจจัยในการให้ ความดีงาม ความสุข ความแจ่มใส เกิดขึ้นทุกครั้งที่จิตคิดจะให้ และสะสมเป็นบารมีต่อเนื่องเมื่อได้ลงมือกระทำกำเนิดของเฟอร์นิเจอร์ไม้ฝาโลง

สถาปนิคหนุ่ม จากรั้วจามจุรี ตะวัน เลขาสถาพร (ตั้ม) เข้ามาเป็นอาสาสมัครสึนามิช่วยงานตั้งแต่ช่วงแรกๆ เห็นไม้ที่มีคนบริจาคมาจำนวนมากเพื่อมาทำเป็นโลงศพ และโลงศพเองกองเหลือทิ้งเฉกเช่นภูเขาเลากาที่วัดย่านยาว และไม้เหล่านั้นบางชนิดคงมีอายุอยู่ไม่นาน เช่นไม้อัดที่ถูกทิ้งให้ตากแดดตากลม ด้วยความที่ตั๊มมีนิสัยส่วนตัวที่ไม่ชอบเห็นของเหลือใช้ถูกทิ้งให้เป็นขยะ มักจะนำมาสร้างงานให้เกิดประโยชน์เสมอ จึงคิดว่าน่าจะนำมาทำโต๊ะ เก้าอี้ได้ ไม้เหล่านั้นจึงถูกขนย้ายจากวัดย่านยาวมาที่ศูนย์อาสาสมัครสึนามิเพื่อดัดแปลงเป็นสิ่งของที่จะเกิดประโยชน์เช่นโต๊ะ เก้าอี้ เหล่านี้ล้วนเป็นความต้องการของเด็กๆ และโรงเรียน

งานมือ งานสร้างเฟอร์นิเจอร์จากไม้ถือเป็นงานปลดปล่อยอัตตาตัวตน เป็นงานที่จะทำให้สมองผู้ทำโปร่งโล่ง และการทำอย่างสม่ำเสมอ ได้เรียนรู้สั่งสมประสบการณ์ก็จะเกิดสภาวะสร้างสรรค์ตามมา

แรงงานและพลังสร้างสรรค์ที่สำคัญยิ่งของงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ เป็นชาวเบลเยี่ยม

Mr.Christopp Boumboo อายุ 34 ปี ผู้เติบโตมาจากครอบครัวที่ทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ เคยเรียนสถาปนิก และงานตกแต่งภายใน ปัจจุบัน Chirstopp ทำผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ขาย เพราะที่บ้านของเขามีไม้ไผ่อยู่รายรอบ เมื่อ Chirstopp เดินทางมาถึงที่เขาหลักเนเจอร์รีสอร์ท และกองไม้ที่คุณตั้มกำลังเตรียมทำเฟอร์นิเจอร์ เขารู้ทันทีว่าเขาจะช่วยทำงานอะไรได้ Chirstopp มองเห็นภาพอุปกรณ์มากมายวางอยู่ตรงหน้าจากกองไม้ฝาโลงเหล่านั้น (ภาพ Chirstopp)
นับจากโต๊ะตัวเล็กสำหรับเด็กๆ ที่ขาโต๊ะมีรอยแกะสลัก เป็นรูปใบหน้าเด็กยิ้มน่ารัก Chirstopp บอกว่าวันนี้เด็กจะยิ้มได้เบิกบานแบบนี้ ตามด้วยเก้าอี้ตัวเล็ก ที่มีหลากหลายลวดลายสดใส ไปจนถึงลวดลายแผนที่ประเทศต่างๆ ของอาสาสมัครแต่ละชาติ
นอกจากโต๊ะ เก้าอี้ Chirstopp สามารถผลิตงานได้อีกมากมาย เช่นตู้ใส่เอกสารในสำนักงาน มินิบาร์ ชั้นวางของ ตู้หนังสือ และล่าสุด Chirstopp ได้นำไม้ไผ่มาทำเป็นGole ฟุตบอล และทำโคมไฟให้กับคนในค่าย

ในช่วงเวลาไม่ถึงเดือน ที่โรงเรียนคึกคักมีโต๊ะที่ผลิตจากอาสาสมัครที่นี่ จำนวน 20 ตัวและที่ค่ายผู้ประสบภัยคึกคัก อีก 10 ตัว Chirstopp จะยังคงเป็นอาสาสมัครอีกเดือนและอาสาสมัครใหม่ๆ ที่มาต่างก็เข้ามาช่วยกันทำงาน คนที่เลื่อยไม้ไม่เป็น ตอกตะปูไม่ได้ สนใจขัดกระดาษทราย หรือคนที่มีความถนัดในการทำงานเพ้นท์ระบายสี วาดรูปได้ต่างก็มาช่วยกันสร้างสรรค์ให้ไม้กองใหญ่ๆ ค่อยๆ แปรรูปไปสู่อุปกรณ์เครื่องใช้ไม้สอยที่เอื้อประโยชน์ต่อชีวิตน้อยๆ และต่อแหล่งเรียนรู้ต่างๆ

อาสาสมัครหลายๆ คนที่ช่วยทำงานระบายสีและเพ้นท์ภาพ เช่น Elle hughes ช่างภาพชาวอังกฤษ Robby Dewack นักดนตรีชาวเบลเยี่ยม Handley,Will ผู้สร้างงานศิลปะชาวนิซีแลนด์และพี่สาว Handley,Joen ทั้งสองทำงานอาสาสมัครกันมาตลอดนับตั้งแต่เป็นสมาชิกกลุ่ม Green Peace กลุ่มรณรงค์ต่อต้านนิวเคลียร์ และพันธุวิศวกรรม (GMO) มีพยาบาลหนุ่มชาวนิวซีแลนด์อีกคนคือDeere, Adam ที่สนใจงานระบาย รวมทั้งผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ เช่นคุณ Geoff Thorsby วิศกรชาวอังกฤษที่มาอยู่เมืองไทย และคู่ตายายจากแคนาดา Ron and Lise Brook
หรือทีมหนุ่มชาวใต้ในพื้นที่เองก็มาช่วยงานเลื้อยไม้ และอาสาสมัครอีกหลายๆ คนที่ไม่ได้กล่าวถึง
เพราะบางคนหมุนเวียนเปลี่ยนเข้ามาช่วยในระยะเวลาสั้นๆ แต่ทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของงาน

และอีกไม่กี่วันข้างหน้าตู้หนังสือ โต๊ะ เก้าอี้ตัวเล็กๆ จะเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก ในเขตตำบลคึกคักและขยายออกไปสู่ชุมชนรอบๆ ในจังหวัดพังงา ที่ได้รับความเดือดร้อน สีสันและลวดลายบนเก้าอี้จะไม่ได้มาจากความคิด ความหวังของอาสาสมัครเท่านั้น เก้าอี้ตัวเล็กๆ จำนวนมากที่รองสีพื้นไปแล้วกำลังจะนำไปให้เด็กๆ ได้แต่งเติม วาดสี แต้มฝัน ของตัวเอง เพื่อได้รู้สึกร่วมถึงความเป็นเจ้าของ เป็นความภาคภูมิใจ อันจะนำ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ความเบิกบาน ความหวังและกำลังใจให้งอกงามในเด็กๆ และในหัวใจของผู้ใหญ่ทุกๆ คน

Leave a Reply

Your Email address address will not be published. Required fields are marked *