พัฒนาการรู้เท่าทันร่างกายและค้นหาสติปัญญาของร่างกาย (ตอนที่1)

พัฒนาการรู้เท่าทันร่างกายและค้นหาสติปัญญาของร่างกาย (ตอนที่1)

โดย เกศสุดา บุญงามอนงค์

—————–

ร่างกายนั้นเฉลียวฉลาด เป็นเสมือนกุญแจไขความลับที่ทำให้เราได้รับรู้ถึงสภาพความคิด อารมณ์และการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน เปรียบเสมือนบ้านทางจิตวิญญาณ เป็นทั้งผู้ชี้ทางให้เรารู้จักตัวเอง เป็นเหมือนหมอที่ชี้แนะสุขภาพของเราเอง

การรู้ว่าร่างกายเราเป็นแบบไหน Body Conciouse  ต่างจากการรู้เท่าทันร่างกาย Body Awareness

การที่คุณจะเป็นผู้เท่าทันร่างกายนั้น  คุณอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นคนออกกำลังกายก็ได้

การใช้หรือฝึกร่างกาย ไม่ได้หมายความว่าคุณรู้เท่าทันร่างกาย

ถ้าคุณรู้ว่าร่างกายคุณเป็นแบบไหน แต่คุณไม่สามารถปรับเปลี่ยนและดูแลให้มีสุขภาพกายใจ และสังคมที่ดีขึ้น นั่นก็ไม่เรียกว่าเท่าทันร่างกาย

ผู้เขียนมักได้ยินลูกค้า ที่เคยฝึกโยคะมาแล้วและคนที่มาเข้ารับการบำบัด รายใหม่ๆ เล่าว่า เมื่อออกกำลังกาย ร่างกายก็เคลื่อนไหวไป ใจก็คิดเรื่องต่างๆ  ความใส่ใจของจิตไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย แต่จมไปในกระแสคลื่นความคิด หรือใจล่องลอยไปความคิดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ภายนอก และไม่สามารถบอกได้ว่าวางท่าแบบไหนสบายกว่า หรือตึงกว่า และเมื่อมีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้น ไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเองทำอะไร เคลื่อนไหวแบบไหนหรือสาเหตุมาจากอะไร และอาจจะไม่เคยรับรู้อารมณ์ที่สัมพันธ์กับร่างกายได้ ซึ่งผู้เขียนเองเคยมีประสบการณ์แบบนี้มาก่อนในสมัยที่เริ่มฝึกโยคะช่วงแรกๆ จนกว่าจะเข้าใจและมีทักษะในการรู้เท่าทันร่างกายได้นั้นก็ใช้เวลาหลายปี

หากคุณคือคนที่ฝึกโยคะมาอย่างสม่ำเสมอ หรือเป็นครูโยคะ หรือครูไทชิ ครูพิลาเต้  ทักษะหนึ่งที่คุณควรจะมีคือนิสัยในการรู้เท่าทันร่างกาย การรู้จักระมัดระวังในการเคลื่อนไหวและการจัดวางการทรงตัว คุณสมบัติเหล่านี้จะช่วยให้คุณสามารถเท่าทัน ระมัดระวังอารมณ์และความคิด อีกทั้งค้นพบความสัมพันธ์ของร่างกายและจิตใจ

การตระหนักรู้และเท่าทันร่างกายหมายถึงอะไร

1.ความสามารถในการสังเกตและระวังการจัดโครงสร้าง หรือฐานการทรงตัวของร่างกายให้มั่นคง สมดุล และผ่อนคลาย

2.สามารถรับรู้รายละเอียดที่เกิดขึ้นกับความรู้สึกของร่างกาย นั่นคือ

1.1 ลมหายใจ สั้น ยาว หากมีการควบคุมก็ควบคุมด้วยการรู้เท่าทัน

1.2 ความรู้สึกต่างๆ เช่นความตึง คลาย อุ่น เย็น เกร็ง บีบ ปวด สบาย หนัก เบา หวิว วูบ วาบ เป็นต้น

3.เท่าทันท่วงท่า และการแสดงออกของตัวเองในแต่ละช่วงขณะ เช่นการขมวดคิ้ว กัดฟัน เท้าสะเอว ห่อไหล่ ตัวเอียง ก้มหน้า คอตก เสียงดัง เสียงสั่น เบา เดินเร็ว ช้า กำหมัด งอตัว ฯลฯ

4.มีความเข้าใจที่มาของความรู้สึกของร่างกาย และการแสดงออกของท่วงท่าต่างๆ มีผลกระทบมาจากเหตุปัจจัยต่างๆ  เช่นจากกลิ่น เสียง สัมผัส อาหาร อากาศ อารมณ์ เช่นอารมณ์เศร้า ผิดหวัง ตาจะตก ใบหน้าก้มต่ำ ลมหายใจสั้น อ่อนแรง อาจแน่นหน้าอก เสียงเบาลง เดินช้าลง หยุดการสนทนา เป็นต้น

5.รู้วิธีที่จะดูแลตัวเอง จัดปรับร่างกาย และจิตใจ อีกทั้งปรับเปลี่ยนวิธีชีวิต วิธีคิด วิธีกิน และวิธีการกระทำใหม่ ที่เป็นผลดีต่อสุขภาพ หากท่วงท่านั้นส่งผลด้านลบต่อบุคคลิกการวางตัวหรือเกิดความตึงเครียดในร่างกายและจิตใจ แล้วเรารู้วิธีที่จะจัดปรับการทรงตัว ปรับพฤติกรรมใหม่ ที่จะช่วยให้ร่างกาย จิตใจมั่นคงและ ผ่อนคลาย

ยกตัวอย่างเช่น ผู้เขียนพบว่า ทุกครั้งที่เดินออกจากบ้านในยามที่อากาศหนาวเย็น หัวไหล่จะห่อและคอจะหดขึ้นมาทันที   และหลังจากนั้นทุกครั้งจะรู้สึกถึงความตึงที่หัวไหล่เสมอ เมื่อผู้เขียนจับได้ว่าร่างกายเป็นเช่นนี้ก็จะคลายหัวไหล่เสมอ  นอกจากนั้นก็จะหาผ้าพันคอและคลุมหัวไหล่ให้อุ่นมากๆ

การตระหนักรู้ร่างกายนั้นจึงไม่ได้จบอยู่ที่ความจำได้ หรือรับรู้ร่างกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสามารถที่จะเข้าใจที่มา ที่ไป หรือเข้าใจธรรมชาติของร่างกาย และความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงของกาย จิตและสภาพแวดล้อม  อีกทั้งมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนและดูแลตัวเองให้มีสุขภาพกาย ใจ อารมณ์ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนที่สำคัญสำหรับคุณด้วย

ประโยชน์ของการตระหนักรู้เท่าทันร่างกาย

มีทักษะในจัดวางท่วงท่าที่เหมาะสม สมดุล ซึ่งจะช่วยให้ระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ตามปกติและมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบการไหลเวียนของเลือด ระบบกล้ามเนื้อ ผิวหนัง โครงสร้าง ระบบหายใจ ขับถ่าย ระบบย่อยอาหาร ระบบประสาท ฯลฯ

ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด คุณจะสามารถรับรู้ได้เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น เพราะกล้ามเนื้อ และข้อจะมีการเกร็งตัวและมีการเคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งที่ปกติ เช่น เกร็งคอ ห่อไหล่ กำหมัด กัดฟัน เกร็งกราม หดหน้าท้อง ฯลฯ เมื่อเรารู้เท่าทันร่างกาย เราก็จะสามารถป้องกันและผ่อนคลายก่อนที่จะปล่อยให้ความเครียดสะสมในระยะยาว ส่งผลด้านลบต่อระบบต่างๆ ของร่างกายได้

เป็นคนที่มีบุคลิกภาพที่ดี  มีความระมัดระวังในการเคลื่อนไหน
สามารถรับรู้ได้ว่าอารมณ์ มีความสัมพันธ์กับความรู้สึกของร่างกาย และการแสดงออกของท่วงท่า เช่น เมื่อเกิดความกังวลหรือกลัวแล้วห่อไหล่ หดตัว เป็นต้น

รับรู้ เท่าทันความคิดที่ส่งผลต่อความรู้สึกของร่างกายและการแสดงออก และสามารถปรับความคิด วิธีการมองโลกที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
ป้องกันอุบัติเหตุ ความเจ็บปวดที่จะส่งผลเสียต่อร่างกาย
รู้ขอบเขต ความสามารถของร่างกาย อารมณ์และจิตใจ
ช่วยบำบัดอาการบาดเจ็บของร่างกายได้เร็วขึ้น เพราะเมื่อเราสามารถรับรู้ได้ว่าส่วนใหน หรือการจัดท่วงท่าแบบไหน ออกแรงอย่างไรที่เพิ่มความเจ็บปวดและเป็นจุดอ่อน เราก็จะระวังการจัดท่าและใช้แรงได้อย่างถูกต้อง

มีความเชื่อมั่นว่าเราสามารถฝึกร่างกาย ให้มีพลัง และเพื่อที่จะดูแลสิ่งที่สำคัญจำเป็นให้กับชีวิต
พัฒนาความเชื่อมั่นและความรักต่อตัวเอง มีความเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง
พัฒนาความสามารถในการรับรู้และเข้าใจการเคลื่อนไหว ภาษาร่างกายและพลังงานจากร่างกายของผู้อื่น

หากคุณเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพที่ดี ลองให้เวลากับตัวเองฝึกพัฒนาทักษะในการตระหนักรู้ร่างกาย เพราะผลลัพท์ที่ได้นั้นคุ้มค่ายิ่งนัก

อ่านวิธีการฝึกทักษะการตระหนักรู้ร่างกายด้วยตัวเองต่อในตอนที่สอง (link)

หากคุณสนใจฝึก การรู้เท่าทันร่างกาย (Body Awareness)  และหลักสูตรการรู้เท่าทันตัวเอง (Self Awareness) เพื่อให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ ติดต่อผู้เขียนได้ที่ Yosudabliss@gmail.com ***

** ผู้เขียน: เกศสุดา บุญงามอนงค์ (ครูเกด) เป็นเป็นนักบำบัด ครูโยคะ ที่ปรึกษาทางชีวิต ครูนพลักษณ์ ที่มีความสามารถและประสบการณ์ในการฝึกทักษะทางร่างกายที่ให้ความสำคัญกับจิต  ผู้เขียนหนังสือ “โยคะแห่งสติ” เป็นผู้ออกแบบหลักสูตรและกิจกรรมให้กับสถานบำบัดนานาชาติ สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจ และความสัมพันธ์ เป็นครูสอนการฝึกสติ เพื่อการผ่อนคลาย ที่เข้าใจความสัมพันธ์ของร่างกายกาย จิตและอารมณ์ อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ Mindfulness-Based Stress Reduction (MBSR)  ได้รับใบประกาศจากหลักสูตรนี้กับ Penn Mindfulness Program, Penn Medicine, University of Pennsyvalnia.

———-

Leave a Reply

Your Email address address will not be published. Required fields are marked *