All posts by admin

การหยุดพักและทำจิตให้โล่ง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพชีวิตได้อย่างไร เกศสุดา ชาตยานนท์ บุญงามอนงค์

“หยุดนิ่งๆ พักและผ่อนคลายนี่นะ ทำไม่ได้หรอก จะเกิดอะไรขึ้นกับการทำงาน รายได้และก็ผลงานของฉัน?”

มีคนจำนวนมากที่รู้สึกอึดอัด ต่อต้านและก็อาจจะรำคาญกับความว่า พัก ผ่อนคลาย ช้าลง รอก่อน หรือหยุดก่อน โดยเฉพาะคนที่ชอบทำงาน หยุดนิ่งไม่ได้ ชอบสร้างผลงาน ชอบการแข่งขัน มุ่งมั่นความสำเร็จ ความมั่งคงในชีวิต ทรัพย์สิน ชอบคนขยัน และก็มีแนวโน้มว่า เมื่อคนเหล่านี้ได้ยินคำเหล่านี้ หรือเห็นต้วเองช้า ผ่อนคลาย หยุดนิ่ง ก็อาจจะตีความลักษณะการกระทำแบบนี้ว่า ไม่ฉลาด ขี้เกียจ อ่อนแอ ไม่มีเป้าหมาย ชอบสบาย ล่องลอย เป็นต้น

คุณเคยรู้สึกตึง เครียดจากการที่มีงานล้นมือและมีงานรออยู่ในอนาคตหรือไม่?

คุณเคยรู้สึกถึงความเครียดจากงานที่คุณกำลังทำอยู่บ้างไหม?

แล้วคุณรู้สึกถึงความวิตกกังวลกับการเผชิญหน้ากับปัญหาและความยุ่งยากหรือเปล่า?

คุณจำได้ไหมช่วงเวลาแบบไหนที่ทำให้คุณรู้สึกสดชื่น มีพลังงานดีๆที่จะเริ่มต้นกับกิจกรรมถัดไป

พลังที่สดใหม่นั้นมาจากไหน  และอะไรคือสิ่งที่จะช่วยให้สมองคุณปล่องโล่ง สบายที่จะช่วยให้คุณแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น

จากงานวิจัย จากลูกค้าจำนวนมาก และจากประสบการณ์ส่วนตัวพบว่า ความสามารถในการจดจ่อ ความคิดสร้างสรรค์และ ไอเดียใหม่ๆ ผลุดขึ้นมาในยามที่รู้สึกผ่อนคลายและ จิตสงบ มาจากการให้เวลากับตัวเองได้พัก ช้าลง ผ่อนคลาย และปล่อยวางลง  การกระทำเหล่านี้ไม่ได้เป็นการทำให้เสียเวลาและเป็นอุปสรรคต่อการงาน แต่ตรงกันข้ามกลับช่วยทำให้เพิ่มผลงาน เพิ่มประสิทธิภาพและส่งเสริมคุณค่าและสำเร็จให้กับชีวิตและการงาน ถ้าคุณรู้วิธีทำ 

เกิดผลลัพท์ที่คุ้มค่าอย่างไร

เมื่อสมองโล่งจิตเข้าสู่สภาวะที่สงบ ความสามารถในการตื่นรู้ ใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ภายในตัวเองและกับสิ่งรอบๆ ตัวจะดีขึ้น 

 ประโยชน์ที่ได้

  1. เมื่อคุณเปิดโอกาสให้ตัวเองหยุดพัก และดึงความใส่ใจของจิตเข้าไปรับรู้ลมหายใจ ควบคุมลมหายใจ หรือรับรู้ความรู้สึกของร่างกายได้อย่างต่อเนื่อง จะทำให้จิต หรือความคิดของคุณสงบลง สมองจะโล่งขึ้น

  2. เมื่อสมองโล่งจากความคิด ความสามารถและทักษะในการสัมผัสและตระหนักรู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งภายในตัวเอง เช่นความคิด ความรู้สึกทางร่างกายและอารมณ์ และสิ่งที่ิเกิดขึ้นรอบๆตัว ก็จะพัฒนาได้ดีขึ้น เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความคิด ความรู้สึก การกระทำ และเท่าทันความสัมพันธ์ของปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกับสภาวะภายในของเรา

  3. เมื่อจิตคลายร่างกายและก็คลาย สภาวะผ่อนคลายทำให้ระบบประสาทผ่อนคลายทำงานดีขึ้น เมื่อสภาวะผ่อนคลายทำงานจะทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น กล้ามเนื้อคลายตัว การหายใจดีขึ้น ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้น แข็งแรงขึ้น ระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น ลดความดันโลหิต

  4. ด้วยจิตที่สงบและมั่นคง จะทำให้รับรู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างที่มันเป็น ไม่คิดตัดสิน หรือปรุงแต่งเรื่องใดๆ เพียงรับรู้ ได้ยิน ได้เห็น ได้รู้สึก

  5. เมื่อการตัดสินน้อยลง ร่างกายและจิตใจก็ผ่อนคลายขึ้น ความตึงเครียด กังวลต่างๆก็ลดลง

  6. เมื่อจิตสงบนิ่ง ทำให้ความคิด ความอ่าน การตัดสินใจและการแก้ปัญหาในสิ่งต่างๆ ที่เผชิญอยู่ตรงหน้าดีขึ้น

  7. เกิดความคิดและสภาวะสร้างสรรค์

  8. สร้างผลงานได้มากขึ้น ทำงานได้มีประสิทธิภาพดีขึ้น

  9. มีความพึงพอใจในชีวิต พึงพอใจ ชื่นชมและกรุณาต่อตัวเองและผู้อื่นได้ดีขึ้น

  10. มีสุขภาวะที่ดี

งานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าทำไมเราถึงต้องการช่วงเวลาที่ช้าลง (ภาษาอังกฤษ)

https://www.scientificamerican.com/article/mental-downtime/

ช่วงเวลาไหนคือช่วงเวลาที่ดีและเหมาะต่อการหยุด พักสักครู่?

  • ในช่วงเวลาที่กำลังยุ่งๆ ในแต่ละวัน
  • ช่วงที่รู้สึกว่าสมองวุ่นวายไม่สามาถโฟกัสกับโครงการที่ต้องทำ
  • ตอนเกิดความรู้สึกตึงเครียด
  • ตอนที่เกิดความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายทางกายและใจโดยไม่มีสาเหตุ
  • ในทุกเวลาที่คุณต้องการ 


คุณต้องการการเตือนตัวเองให้หยุดพัก อาจจะใช้วิธีตั้งเสียงระฆังเตือนในมือถือให้ตัวเองหยุดหายใจ สำรวจภายใน

การช้าลง และหยุดพักจะเป็นอุปสรรคกับคุณภาพงานเมื่อ

หลายคนเมื่อพัก หรืออยู่นิ่งๆ จิตก็คิดเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับอดีตและอนาคตที่อาจจะทำให้คุณกังวลหรือไม่สบายใจ สมองก็จะวุ่นวาย บทความนี้จะแนะนำวิธีการฝึกผ่อนคลายจิต และเปิดสมองให้โล่ง ตื่นรู้ ในหลากหลายรูปแบบสำหรับคนที่มีเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ 2 นาทีจนถึง 9  นาที ด้วยหลักการฝึกความใส่ใจของจิตจากการไปตกลงไปอยู่ในความคิด เป็นการดึงมาใส่ใจที่ความรู้สึกทางต่างๆ  แน่นอนว่าการหยุดความคิดนั้นไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ แต่การเปลี่ยนการใส่ใจของจิตไปสู่สิ่งอื่นคุณสามารถฝึกได้ ถ้าคุณต้องการ

หลากลายเทคนิคการฝึกพักส่งเสริมประสิทธิภาพงานและชีวิต

เลือกฝึกเทคนิคต่างๆ ตามความต้องการ และเวลาที่มีตามหัวข้อด้านล่าง 

สามารถที่จะฝึกในอริยาบถใดก็ได้ ไม่ว่าจะยืน นั่ง หรือนอน เพียงแต่จัดท่าของร่างกายให้มั่นคง สบาย หลับตา แต่ถ้ารู้สึกว่าหลับตาแล้วง่วงก็ลืมตาฝึกแต่ให้มองต่ำ หรือหาทางให้การมองนั้นไม่ดึงความใส่ใจของจิตออกไปจากฝึก 

ช่วงเวลาที่ยุ่งๆ ในที่ทำงานหรือวันหยุด (มีเวลาไม่เกิน 5 นาที)

 

  • หยุดพัก – หายใจ- และรับรู้ความรู้สึก (2 นาที)

 

https://www.youtube.com/watch?v=Zc9ZUfJP6tY&t=1s

1.1 ไม่ว่าคุณจะทำอะไรอยู่ที่ไหน โดยเฉพาะช่วงเวลายุ่งๆ ระหว่างวัน

1.2  หยุดกิจกรรมทุอย่าง หายใจเข้าลึกๆแล้วหายใจออกยาว 

1.3  สังเกตและถามตัวเองว่าฉันรู้สึกอย่างไร 

1.4  สังเกตว่ามีความคิดอะไรเกิดขึ้นก่อนหน้านี้หรือที่กำลังเกิดขิ้นอยู่

1.5  ปล่อยให้ความคิดนั้นลอยผ่านไป

1.6 กลับมาที่หายใจลึกยาว 1-5 ลมหายใจ

1.7 เลิกควบคุมลายใจ แค่เฝ้าดูจนกระทั่งลมหายใจเต้นช้าลงไปในที่สุด

1.8 รับรู้ความรู้สึกของร่างกายอีกครั้ง เก็บความสงบไว้สักครูแล้วเริ่มกิจกรรมต่อไป

 

  • 20 ลมหายใจ (5 นาที)

 

https://www.youtube.com/watch?v=oVv9pkNuZQA&t=234s

2.1 หยุดกิจกรรมต่างๆ ดึงความใส่ใจของจิตมาที่ลมหายใจ เหมือนกับการเช็คอินในหัวข้อแรก

2.2 หายใจตามปกติ หรือถ้าต้องการควบคุมลมหายใจที่ลึก ก็ไม่ให้มากเกินไปเน้นการหายใจด้วยหน้าท้อง

2.3 นับลมหายใจไปด้วย เข้าและออกนับเป็นหนึ่ง ไปจนถึงสิบ

2.4 ฝึกจิตให้รับรู้ความรู้สึกของลมหายใจที่สัมพันธ์กับร่างกายที่เคลื่อนไหว เช่นหน้าท้องที่เคลื่อนไหวขึ้นลง 

2.5 เมื่อครบสิบลมหายใจ ให้นับต่อไปแบบย้อนหลังจากเก้าไปถึงศูนย์

2.6 ต่อจากนั้นเลิกนับ เพียงแต่รับรู้ลมหายใจตามธรรมชาติ

2.7 สังเกตความรู้สึกทั่วทั้งร่างกาย ประสานลมหายใจและผัสสะต่างๆที่รับรู้รอบๆ ตัว เก็บความสงบนิ่งไว้กับตัวเองสักครู่

 

 

  • ผ่อนพัก เพิ่มการรับรู้ (5 นาที) 

 

คุณสามารถฝึกแบบฝึกหัดนี้หลังจากการฝึกแบบอื่นๆ หากคุณมีเวลา

https://www.youtube.com/watch?v=3mHd4_zYX0U

3.1 หยุดกิจกรรมทั้งหมด แล้วดึงความใส่ใจของจิตมาอยู่ที่ลมหายใจ 

3.2 พักนิ่งๆ สังเกตลักษณะของร่างกาย การทรงตัว ท่วงท่าที่เรากำลังทำอยู่ เราอยู่ที่ไหน ทำอะไรก่อนหน้านี้

3.3 จัดร่างกายให้อยู่ในท่านั่ง ยืนหรือนอนที่สบายและมั่นคง 

3.4 รับรู้ความรู้สึกและการเคลื่อนไหวของลมหายใจ พร้อมทั้งความรู้สึกของร่างกาย

3.5 ถ้าคุณรู้สึกว่าลมหายใจของคุณตื่น สั้นและร่างกายต้องการออกซิเจน ก็ให้ค่อยๆ หายใจเข้าให้ลึก ออกยาวสัก3-5 ลมหายใจ แล้วหยุดการควบคุม แล้วตามลมหายใจตามธรรมชาติ

3.6 ถ้ามีความคิดผ่านเข้ามาก็รับรู้ ปล่อยลอยผ่าน แล้วดึงความใส่ใจของจิตกลับมาที่ลมหายใจ

3.7 เปิดระบบประสาททั้งหมดรับรุ้สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น เสียง แสง กลิ่น ความรู้สึกของร่างกาย ความคิดที่เกิดขึ้น ความรู้สึกทางกายและสิ่งต่างๆ ที่เกิดขิ้น

3.8 เฝ้าดูและรับรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผ่านไป ยังคงดำรงจิตอยู่ลมหายใจ และประสานไปกับประสาทสัมผัสต่างๆ ปล่อยทุกอย่างเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และผ่านไป รับรู้ทุกสิ่งอย่างที่มันเป็นนานเท่าที่เราต้องการ 

ในการฝึกทุกๆ รูปแบบ ให้ใช้ลมหายใจเป็นเหมือนจุดศูนย์กลาง  เหมือนบ้าน เมื่อไหร่ที่เรารู้ตัวก็พาตัวเองกลับมาที่บ้านอยู่เรื่อยๆ ทำแล้ว ทำอีก 

 

  • ในช่วงระหว่างการหยุดพัก เริ่มต้นวันใหม่หรือตอนท้ายของวัน (มีเวลา 6-10 นาที)
  1. การฝึกเจริญสติด้วยการนั่งสมาธิ (6 นาที) https://studio.youtube.com/video/iYifQsti1Ts/edit)
  2.  การผ่อนคลายอย่างลึก (10 นาที)
    https://www.youtube.com/watch?v=vapaUxd7-k0&t=320s
     
  3. เกร็ง คลายกล้ามเนื้อที่ละส่วน และผ่อนกาย พักจิต หลังการออกกำลัง หรือเคลื่อนไหวร่างกายต่างๆ (8.14 นาที)
    https://www.youtube.com/watch?v=cJP_DUTe0Tc&t=12s
  4. พักจิตและกายด้วยการสำรวจและคลายกล้ามเนื้อทีละส่วน (8.30 นาที)
    https://www.youtube.com/watch?v=HOiZb9FE3g4&t=135s

หลังการฝึก ให้เวลากับการสำรวจความรู้สึกของร่างกายสักครู่เสมอ แล้วขอบคุณและชื่นชมตัวเองที่ให้เวลาได้พักจิต พักกาย ดูแลตัวเอง และอย่าลืมที่จะสอบถามตัวเองว่า อะไรคือสิ่งที่สำคัญสำหรับชีวิต? และ ฉันได้ให้เวลาทำอะรไรที่จะดูแลสิ่งสำคัญนี้หรือยัง?

เพียงแค่อ่านบทความนี้อย่างเดียวคุณก็จะไม่สามารถรับรู้ประสบการณ์ที่ดีได้ ให้โอกาสและเวลากับตัวเองลองฝึก แล้วคุณจะได้รับผลที่คุ้มค่า เห็นการเปลี่ยนแปลงของกายและใจ และพัฒนาคุณภาพชีิวิตโดยรวม 

หากต้องการครู โค้ชที่แนะนำอย่างใกล้ชิด ติดต่อผู้เขียนได้เสมอค่ะ

 

ผู้เขียน ครูเกด- เกศสุดา ชาตยานนท์ บุญงามอนงค์ 

เป็นนักบำบัด ครูโยคะ ครูสอนการเจริญสติ เจ้าของหนังสือ “โยคะแห่งสติ” ผู้ออกแบบหลักสูตรการบำบัดและบริหาร และให้กับสถานบำบัดนานาชาติ เพื่อการเจริญสติ สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจ และความสัมพันธ์ เป็นครูสอนการฝึกสติ เพื่อจัดการกับความเครียด  อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (Mindfulness-Based Stress Reduction -MBSR and MBCT- Mindfulness-Based Cognitive Therapy) ได้รับใบประกาศจากหลักสูตรนี้กับ Penn Mindfulness Program, Penn Medicine, University of Pennsyvalnia.  อีกทั้งใบประกาศครูนพลักษณ์กับ The Enneagram Worldwide และโค้ชที่ปรึกษาทางชีวิต การพัฒนาคุณภาพทางอารมณ์ (Emotinal management-EQ)  โค้ชให้กับครอบครัว การเลี้ยงลูก (Youth and Family)  ด้านความรักและ ความสัมพันธ์ ( Couple and Relationship) และอีกทั้งโค้ชทางจิตวิญญาณ (Spiritual Coach) กับ The World Coach Institute (WCI)  

พัฒนาการรู้เท่าทันร่างกายและค้นหาสติปัญญาของร่างกาย (ตอนที่2)

พัฒนาการรู้เท่าทันร่างกายและค้นหาสติปัญญาของร่างกาย  (ตอนจบ)

โดย เกศสุดา บุญงามอนงค์

วิธีการฝึก

ผู้เขียนได้กล่าวถึงความหมายและประโยชน์ของการรู้เท่าทันร่างกายในบทความตอนที่หนึ่ง (link)

หลักการสำคัญของการฝึกตระหนักรู้ร่างกายคือ ความสามารถที่จะดูแลให้ร่างกายอยู่ในสภาวะที่ มั่นคง และผ่อนคลาย แม้ว่าคุณอาจจะมีอาการเจ็บ ปวด ตึง ด้วยการฝึกคลายกล้ามเนื้่อในส่วนที่ควบคุมได้ให้คลาย และฝึกจิตใจให้ผ่อนคลายภายใต้สภาวะที่ตึงเครียดนั้น 

1.การยืน – ยืนให้น้ำหนักของลำตัวตกลงที่กลางฝ่าเท้าของทั้งสองข้าง  ถ้าไม่แน่ใจให้ลองฝึกโยกให้นำ้หนักตัวตกไปทางขวาและเช็คแรงกดที่ฝ่าเท้า  ย้ายไปทางซ้าย เช็คน้ำหนักของแรงกดที่ฝ่าเท้า แล้วกลับมาตรงกลางของลำตัว สังเกตความต่าง จะเห็นว่าน้ำหนักจะอยู่ตรงกลางฝ่าเท้าพอดี  และด้วยวิธีนี้เราจะรู้สึกได้ว่ากระดูกสันหลังตั้งตรง 

-หากกระดูกสันหลังยังไม่ตรงตั้งให้จัดให้ตรง

-การจัดกระดูกสันหลังให้ตั้งตรงจะช่วยให้น้ำหนักตัวของเรามาอยู่ตรงกลางฝ่าเท้า 

 -เปิดหน้าอกก็จะช่วยให้กระดูกสันหลังส่วนบนและหัวไหล่ ไม่โค้งไปข้างหน้า ผ่อนคลายหัวไหล่ เปิดคาง คือไม่ก้มและไม่เงยคอ ซึ่งจะทำให้กระดูกลำคอของเราตั้งตรง

-เมื่อต้องยืนเป็นเวลานาน การพักเข่าแต่ละข้างก็สามารถทำได้ แต่ไม่ควรที่จะยืนในลักษณะนี้นานๆ ควรหมั่นเปลี่ยนและยังคงดูแลให้กระดูกสันหลังตั้งตรง ไม่งอเอว

2.การเดิน ยังคงรักษากระดูกสันหลังให้ตั้งตรง เปิดหน้าอกและผ่อนคลายหัวไหล่ ในการก้าวแต่ละก้าวให้แน่ใจว่าเท้าที่ก้าวไปก่อนได้วางลงอย่างมั่นคงแล้ว ถึงก้าวขาอีกข้างตามไปการที่เท้าวางลงอย่างมั่นคงก็คือการที่เรารู้สึกถึงแรงกดทั่วฝ่าเท้า

3.การนั่ง ยังคงต้องดูแลรักษาแผ่นหลังให้ตั้งตรง ถ้าทำได้หาเบาะวางหนุนหลังส่วนล่าง และนั่งให้หลังแนบกับเบาะ และผ่อนคลายหัวไหล่ ฝ่าเท้าวางกับพื้นเต็มฝ่าเท้า รู้สึกได้ถึงแรงกดของนำ้หนักตัวเต็มที่ตรงบริเวณก้นกบและสะโพกทั้งสองด้าน หากรู้ตัวว่าต้องนั่งทำงานทั้งวัน อย่าลืมที่จะลุกขึ้น เดิน ยืน เปลี่ยนอริยาบถ เป็นช่วงๆ ด้วย

4.การนอน สิ่งสำคัญที่ควรระวังคือการจัดแผ่นหลัง ให้สบาย ไม่ให้ส่วนใด ส่วนหนึ่งตึงเกร็ง โดยเฉพาะหัวไหล่ ไม่ให้เกร็งงอ การนอนในท่าศพถือเป็นท่านอนที่จะเตรียมให้ร่างกายเข้าสู่สภาพวะผ่อนคลายได้อย่างดียิ่ง 

5.การลุก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการมึน เวียนศรีษะ หรือหายใจไม่ออก เมื่อจะต้องลุก ให้พริกตัวนอนตะแครงด้านขวาก่อน แล้วค่อยๆ ลุก หากคุณเป็นคนที่มีความดัน มีปัญหาโรคหัวใจ บ้านหมุน ให้นอนตะแครงข้างโดยยกศรีษะตั้งสูง เหมือนท่าพระนอนก่อนสัก 5 ลมหายใจ หรือจนกว่ารู้สึกว่าหัวใจเต้นช้าลง แล้วค่อยๆ ขยับตัวลุกที่ละช่วงเพื่อปรับแรงดันและการไหลเวียนของเลือด 

6.การยกข้าวของ ระมัดระวังการก้มตัวลงจับข้าวของ หากน้ำหนักของของมาก ให้ย่อตัว นั่งหยองๆ ค่อยๆยก โดยไม่งอหลัง และให้ใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องช่วยยกนำ้หนัก

7.ในการจัดท่วงท่าและการคลายกล้ามเนื้อแต่ละครั้งให้สูดลมหายใจให้ลึก จนซี่โครงและหน้าอกขยายได้เต็มที่ แล้วค้างลมหายใจไว้นับ3-5 แล้วค่อยๆ หายใจออกช้าๆ ยาวๆ แล้วค่อยๆคลายกล้ามเนื้อในส่วนที่เกร็งไปด้วย โดยทำ5-10 รอบ จนรู้สึกได้ถึงความสงบนิ่ง

8.ฝึกปรับบุคลิกาพที่อาจจะเป็นอุปสรรคในการสร้างสัมพันธ์และส่งผลต่ออารมณ์ด้านลบ เช่น 

-ถ้าเป็นคนที่มีความมั่นใจสูงเกินไป ไม่ฟังผู้อื่นง่ายๆ มักเสียงดัง หรือกระโชกโฮกฮาก และอาจจะเท้าสะเอวคุย และทำให้คนรอบข้างตกใจ กลัว ไม่อยากอยู่ใกล้ ก็ลดระดับ และปรับโทนให้นุ่มขึ้น อาจปรับท่ายืนใหม่ ปล่อยมือวางข้างลำตัวให้เป็นอิสระะ   

-คนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง อาจยืนหรือนั่งห่อไหล่ งอตัว พูดเบา ไม่สบสายตา เวลายืนหรือเดินกุมมือสองข้างไว้ที่หว่างขา พูดติดขัด เสียงเบา ก็ให้เท่าทันตัวเองด้วยการฝึกพูดให้เสียงดังขึ้น ยืดหลังตั้งตรง เปิดหน้าอกและฝึกสบสายตากับคนที่คุยด้วยเป็นระยะ

9.เมื่อมีอารมณ์ด้านบวกและด้านลบเกิดขึ้น เช่นมีความร่าเริง ตื่นเต้นดีใจ สงบ ผ่อนคลาย หรือ รู้สึกเครียด เศร้า หงุดหงิด โกรธ กลัว วิตกกังวล ให้สังเกตความรู้สึกของร่างกายว่าเป็นอย่างไร และสังเกตท่าทีการแสดงของร่างกายด้วยว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร จดบันทึกไว้ ( ฝึกวิธีการรับมือกับความไม่สบายกายและใจ จากบทความตามลิงค์นี้     (Link)

เพราะทั้งร่างกายและจิตใจนั้นสัมพันธ์กันเป็นอย่างดีความคิดที่เป็นด้านบวก จะส่งผลต่ออารมณ์ที่เป็นด้านบวกซึ่งก็แน่นอนว่าอารมณ์ด้านลบ ก็มีผลมาจากความคิดด้านลบส่วนอาการทางร่างกายนั้นก็เป็นผลมาจากอารมณ์ และมุมมองที่เรามีต่อความรู้สึกของร่างกาย 

การฝึกร่ายกายหรือออกกำลังกายที่ประกอบด้วยการฝึกสตินั้นเป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพมากในการดูแลสุขภาพ คุณจะประหยัดเวลา พลังงาน และเงินทองไปกับค่าหมอ ค่ายา ค่าโรงพยาบาล  ช่วยให้คุณเข้าใจและเท่าทันตัวเอง เป็นอิสระ มีความมั่นใจมากขึ้นว่าคุณคือนายของสุขภาพตัวเอง และรู้วิธีที่จะดูแลตัวเอง ดูแลความสัมพันธ์และสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิต

——

สนใจฝึกทักษะความสามารถในการตระหนักรู้และเข้าใจสติปัญญาของร่างกายให้ได้ผลลัพท์ที่มีประสิทธิภาพ  ติดต่อครูเกด Yosudabliss@gmail.com เพื่อฝึกหลักสูตรการรู้เท่าทันร่างกาย (Body Awareness)  และหลักสูตรการรู้เท่าทันตัวเอง (Self Awareness) ผ่านวิดีโอคอล ***

** ผู้เขียน: เกศสุดา บุญงามอนงค์ (ครูเกด) เป็นเป็นนักบำบัด ครูโยคะ ที่ปรึกษาทางชีวิต และครูนพลักษณ์ ที่มีความสามารถและประสบการณ์ในการฝึกทักษะทางร่างกายที่ให้ความสำคัญกับจิตใจ  เจ้าของหนังสือ “โยคะแห่งสติ” เป็นผู้ออกแบบหลักสูตรและกิจกรรมให้กับสถานบำบัดนานาชาติ ให้คำปรึกษาและช่วยบำบัดผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจ และความสัมพันธ์ เป็นครูสอนการฝึกสติ เพื่อการผ่อนคลาย  ที่เข้าใจความสัมพันธ์ของร่างกายกาย จิตและอารมณ์ อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ Mindfulness-Based Stress Reduction (MBSR) ได้รับใบประกาศจากหลักสูตรนี้กับ Penn Mindfulness Program, Penn Medicine, University of Pennsyvalnia.

พัฒนาการรู้เท่าทันร่างกายและค้นหาสติปัญญาของร่างกาย (ตอนที่1)

พัฒนาการรู้เท่าทันร่างกายและค้นหาสติปัญญาของร่างกาย (ตอนที่1)

โดย เกศสุดา บุญงามอนงค์

—————–

ร่างกายนั้นเฉลียวฉลาด เป็นเสมือนกุญแจไขความลับที่ทำให้เราได้รับรู้ถึงสภาพความคิด อารมณ์และการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน เปรียบเสมือนบ้านทางจิตวิญญาณ เป็นทั้งผู้ชี้ทางให้เรารู้จักตัวเอง เป็นเหมือนหมอที่ชี้แนะสุขภาพของเราเอง

การรู้ว่าร่างกายเราเป็นแบบไหน Body Conciouse  ต่างจากการรู้เท่าทันร่างกาย Body Awareness

การที่คุณจะเป็นผู้เท่าทันร่างกายนั้น  คุณอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นคนออกกำลังกายก็ได้

การใช้หรือฝึกร่างกาย ไม่ได้หมายความว่าคุณรู้เท่าทันร่างกาย

ถ้าคุณรู้ว่าร่างกายคุณเป็นแบบไหน แต่คุณไม่สามารถปรับเปลี่ยนและดูแลให้มีสุขภาพกายใจ และสังคมที่ดีขึ้น นั่นก็ไม่เรียกว่าเท่าทันร่างกาย

ผู้เขียนมักได้ยินลูกค้า ที่เคยฝึกโยคะมาแล้วและคนที่มาเข้ารับการบำบัด รายใหม่ๆ เล่าว่า เมื่อออกกำลังกาย ร่างกายก็เคลื่อนไหวไป ใจก็คิดเรื่องต่างๆ  ความใส่ใจของจิตไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย แต่จมไปในกระแสคลื่นความคิด หรือใจล่องลอยไปความคิดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ภายนอก และไม่สามารถบอกได้ว่าวางท่าแบบไหนสบายกว่า หรือตึงกว่า และเมื่อมีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้น ไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเองทำอะไร เคลื่อนไหวแบบไหนหรือสาเหตุมาจากอะไร และอาจจะไม่เคยรับรู้อารมณ์ที่สัมพันธ์กับร่างกายได้ ซึ่งผู้เขียนเองเคยมีประสบการณ์แบบนี้มาก่อนในสมัยที่เริ่มฝึกโยคะช่วงแรกๆ จนกว่าจะเข้าใจและมีทักษะในการรู้เท่าทันร่างกายได้นั้นก็ใช้เวลาหลายปี

หากคุณคือคนที่ฝึกโยคะมาอย่างสม่ำเสมอ หรือเป็นครูโยคะ หรือครูไทชิ ครูพิลาเต้  ทักษะหนึ่งที่คุณควรจะมีคือนิสัยในการรู้เท่าทันร่างกาย การรู้จักระมัดระวังในการเคลื่อนไหวและการจัดวางการทรงตัว คุณสมบัติเหล่านี้จะช่วยให้คุณสามารถเท่าทัน ระมัดระวังอารมณ์และความคิด อีกทั้งค้นพบความสัมพันธ์ของร่างกายและจิตใจ

การตระหนักรู้และเท่าทันร่างกายหมายถึงอะไร

1.ความสามารถในการสังเกตและระวังการจัดโครงสร้าง หรือฐานการทรงตัวของร่างกายให้มั่นคง สมดุล และผ่อนคลาย

2.สามารถรับรู้รายละเอียดที่เกิดขึ้นกับความรู้สึกของร่างกาย นั่นคือ

1.1 ลมหายใจ สั้น ยาว หากมีการควบคุมก็ควบคุมด้วยการรู้เท่าทัน

1.2 ความรู้สึกต่างๆ เช่นความตึง คลาย อุ่น เย็น เกร็ง บีบ ปวด สบาย หนัก เบา หวิว วูบ วาบ เป็นต้น

3.เท่าทันท่วงท่า และการแสดงออกของตัวเองในแต่ละช่วงขณะ เช่นการขมวดคิ้ว กัดฟัน เท้าสะเอว ห่อไหล่ ตัวเอียง ก้มหน้า คอตก เสียงดัง เสียงสั่น เบา เดินเร็ว ช้า กำหมัด งอตัว ฯลฯ

4.มีความเข้าใจที่มาของความรู้สึกของร่างกาย และการแสดงออกของท่วงท่าต่างๆ มีผลกระทบมาจากเหตุปัจจัยต่างๆ  เช่นจากกลิ่น เสียง สัมผัส อาหาร อากาศ อารมณ์ เช่นอารมณ์เศร้า ผิดหวัง ตาจะตก ใบหน้าก้มต่ำ ลมหายใจสั้น อ่อนแรง อาจแน่นหน้าอก เสียงเบาลง เดินช้าลง หยุดการสนทนา เป็นต้น

5.รู้วิธีที่จะดูแลตัวเอง จัดปรับร่างกาย และจิตใจ อีกทั้งปรับเปลี่ยนวิธีชีวิต วิธีคิด วิธีกิน และวิธีการกระทำใหม่ ที่เป็นผลดีต่อสุขภาพ หากท่วงท่านั้นส่งผลด้านลบต่อบุคคลิกการวางตัวหรือเกิดความตึงเครียดในร่างกายและจิตใจ แล้วเรารู้วิธีที่จะจัดปรับการทรงตัว ปรับพฤติกรรมใหม่ ที่จะช่วยให้ร่างกาย จิตใจมั่นคงและ ผ่อนคลาย

ยกตัวอย่างเช่น ผู้เขียนพบว่า ทุกครั้งที่เดินออกจากบ้านในยามที่อากาศหนาวเย็น หัวไหล่จะห่อและคอจะหดขึ้นมาทันที   และหลังจากนั้นทุกครั้งจะรู้สึกถึงความตึงที่หัวไหล่เสมอ เมื่อผู้เขียนจับได้ว่าร่างกายเป็นเช่นนี้ก็จะคลายหัวไหล่เสมอ  นอกจากนั้นก็จะหาผ้าพันคอและคลุมหัวไหล่ให้อุ่นมากๆ

การตระหนักรู้ร่างกายนั้นจึงไม่ได้จบอยู่ที่ความจำได้ หรือรับรู้ร่างกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสามารถที่จะเข้าใจที่มา ที่ไป หรือเข้าใจธรรมชาติของร่างกาย และความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงของกาย จิตและสภาพแวดล้อม  อีกทั้งมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนและดูแลตัวเองให้มีสุขภาพกาย ใจ อารมณ์ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนที่สำคัญสำหรับคุณด้วย

ประโยชน์ของการตระหนักรู้เท่าทันร่างกาย

มีทักษะในจัดวางท่วงท่าที่เหมาะสม สมดุล ซึ่งจะช่วยให้ระบบการทำงานต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ตามปกติและมีประสิทธิภาพ เช่น ระบบการไหลเวียนของเลือด ระบบกล้ามเนื้อ ผิวหนัง โครงสร้าง ระบบหายใจ ขับถ่าย ระบบย่อยอาหาร ระบบประสาท ฯลฯ

ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด คุณจะสามารถรับรู้ได้เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น เพราะกล้ามเนื้อ และข้อจะมีการเกร็งตัวและมีการเคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งที่ปกติ เช่น เกร็งคอ ห่อไหล่ กำหมัด กัดฟัน เกร็งกราม หดหน้าท้อง ฯลฯ เมื่อเรารู้เท่าทันร่างกาย เราก็จะสามารถป้องกันและผ่อนคลายก่อนที่จะปล่อยให้ความเครียดสะสมในระยะยาว ส่งผลด้านลบต่อระบบต่างๆ ของร่างกายได้

เป็นคนที่มีบุคลิกภาพที่ดี  มีความระมัดระวังในการเคลื่อนไหน
สามารถรับรู้ได้ว่าอารมณ์ มีความสัมพันธ์กับความรู้สึกของร่างกาย และการแสดงออกของท่วงท่า เช่น เมื่อเกิดความกังวลหรือกลัวแล้วห่อไหล่ หดตัว เป็นต้น

รับรู้ เท่าทันความคิดที่ส่งผลต่อความรู้สึกของร่างกายและการแสดงออก และสามารถปรับความคิด วิธีการมองโลกที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
ป้องกันอุบัติเหตุ ความเจ็บปวดที่จะส่งผลเสียต่อร่างกาย
รู้ขอบเขต ความสามารถของร่างกาย อารมณ์และจิตใจ
ช่วยบำบัดอาการบาดเจ็บของร่างกายได้เร็วขึ้น เพราะเมื่อเราสามารถรับรู้ได้ว่าส่วนใหน หรือการจัดท่วงท่าแบบไหน ออกแรงอย่างไรที่เพิ่มความเจ็บปวดและเป็นจุดอ่อน เราก็จะระวังการจัดท่าและใช้แรงได้อย่างถูกต้อง

มีความเชื่อมั่นว่าเราสามารถฝึกร่างกาย ให้มีพลัง และเพื่อที่จะดูแลสิ่งที่สำคัญจำเป็นให้กับชีวิต
พัฒนาความเชื่อมั่นและความรักต่อตัวเอง มีความเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง
พัฒนาความสามารถในการรับรู้และเข้าใจการเคลื่อนไหว ภาษาร่างกายและพลังงานจากร่างกายของผู้อื่น

หากคุณเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพที่ดี ลองให้เวลากับตัวเองฝึกพัฒนาทักษะในการตระหนักรู้ร่างกาย เพราะผลลัพท์ที่ได้นั้นคุ้มค่ายิ่งนัก

อ่านวิธีการฝึกทักษะการตระหนักรู้ร่างกายด้วยตัวเองต่อในตอนที่สอง (link)

หากคุณสนใจฝึก การรู้เท่าทันร่างกาย (Body Awareness)  และหลักสูตรการรู้เท่าทันตัวเอง (Self Awareness) เพื่อให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ ติดต่อผู้เขียนได้ที่ Yosudabliss@gmail.com ***

** ผู้เขียน: เกศสุดา บุญงามอนงค์ (ครูเกด) เป็นเป็นนักบำบัด ครูโยคะ ที่ปรึกษาทางชีวิต ครูนพลักษณ์ ที่มีความสามารถและประสบการณ์ในการฝึกทักษะทางร่างกายที่ให้ความสำคัญกับจิต  ผู้เขียนหนังสือ “โยคะแห่งสติ” เป็นผู้ออกแบบหลักสูตรและกิจกรรมให้กับสถานบำบัดนานาชาติ สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจ และความสัมพันธ์ เป็นครูสอนการฝึกสติ เพื่อการผ่อนคลาย ที่เข้าใจความสัมพันธ์ของร่างกายกาย จิตและอารมณ์ อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ Mindfulness-Based Stress Reduction (MBSR)  ได้รับใบประกาศจากหลักสูตรนี้กับ Penn Mindfulness Program, Penn Medicine, University of Pennsyvalnia.

———-

ขอบคุณและกรุณา ต่ออารมณ์ด้านลบ

ขอบคุณและกรุณา  ต่ออารมณ์ด้านลบ

โดย เกศสุดา บุญงามอนงค์ …………

คุณมีมุมมองต่ออารมณ์ และความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นในตัวเองอย่างไร?

เวลาที่คุณมีอารมณ์ด้านลบ เช่น มีความผิดหวัง โกรธ ขุ่นเคือง วิตกกังวล โศกเศร้า ละอาย และมีความกลัว คุณคิดและรู้สึกกับอารมณ์เหล่านี้อย่างไร?

คุณเคยมีความคิดตัดสินและต่อว่า หรือต่อสู้อีกทั้งหาทางวิ่งหนีไปจากอารมณ์เหล่านี้หรือไม่? คุณเคยรู้สึกเครียด กังวลจากการมีความคิดและความรู้สึกด้านลบเกิดขึ้นหรือไม่? แล้วบ่อยครั้งแค่ไหนที่คุณเกิดความกลัว และโกรธแล้วมีการกระทำที่เป็นผลลบต่อตัวเองและคนที่คุณห่วงใย?

ความรู้สึกทางอารมณ์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ เรามักจะมีแนวโน้มที่จะชอบและยอมรับอารมณ์ด้านบวกต่อตัวเราและคนอื่น  ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับได้และไม่ผิดอะไร

และเราก็มักจะมีแนวโน้มที่จะหลีกเหลี่ยง ต่อสู้กับอารมณ์ด้านลบที่เราไม่ชอบ และนั่นก็ไม่ได้ผิดอะไรที่เรายอมรับได้ยาก 

ชีวิตคุณจะเป็นอย่างไรถ้าหากคุณสามารถใช้อารมณ์ด้านลบเป็นแนวทางที่จะช่วยให้เข้าใจ ค้นพบตัวเองและสิ่งที่คุณให้คุณค่า ค้นพบความต้องการลึกๆ ที่จำเป็น และหาวิธีดูแลคุณค่าและความต้องการนั้นได้อย่างเหมาะสม

ข่าวดี คุณสามารถที่จะได้รับประโยชน์จากความคิดและอารมณ์ด้านลบ

ความคิดด้านลบบอกถึงแนวคิด ความเชื่อ สิ่งที่เราให้คุณค่า

อารมณ์ด้านลบ บอกถึงความต้องการ (Needs) ที่จำเป็นที่เป็นระดับของความอยู่รอด* ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ ตั้งคำถาม ทำความเข้าใจกับตัวเอง และหาวิธีทางที่จะดูแลตัวเอง

ความเจ็บปวด ความเครียดและอารมณ์ด้านลบต่างๆ นั้นมักจะมาจากวิธีการ มุมมองต่อความคิด ความรู้สึกและการกระทำของเราเป็นส่วนใหญ่ 

ทุกวันนี้คุณอาจจะสังเกตเห็นว่าอัตราส่วนของผู้คนรอบๆ ตัวเรามีความทุกข์ ความเครียดและความวิตกกังวลในชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่เท่านั้น แม้แต่เด็กก็ตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้มากขึ้นด้วย

ถ้าคุณหรือคนรอบตัวคุณกำลังเผชิญหน้ากับความเครียดและวิตกกังวล ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด และไม่ต้องการพึ่งยาเป็นหลัก นี่เป็นวิธีการฝึกที่จะป้องกันและลดความเครียดที่คุณสามารถลองฝึกเองได้

 วิธีการรับมือกับความคิดด้านลบ

  1. เฝ้าดูความคิดที่ตัดสินความคิด ความรู้สึกและการกระทำว่า เวลาที่มันเกิดขึ้น ความคิดนั้นเป็นแบบไหน คิดอย่างไร?
  2. ยอมให้ความคิดนั้นเกิดขึ้น สังเกตว่ามันเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน?
  3. เมื่อความคิดนั้นเกิดขึ้น เฝ้าดูการเกิดขึ้น การดำรงอยู่และการผ่านหายไป สังเกตและจดจำไว้ว่าเมื่อความคิดนั้นเกิด มีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นตามมา ความรู้สึกของร่างกายเป็นอย่างไร และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับอารมณ์ความรู้สึกนั้นเป็นแบบไหน
  4. ตรวจสอบความคิดว่า คิดแบบไหน ความคิดนั้นตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ ถ้าเป็นสภานการณ์ที่มีคนอื่นเกี่ยวข้อง อาจจะลองถามคนนั้นดูว่าที่เราคิดนั้นเป็นจริงตามที่เราเชื่อ หรือคาดไว้หรือไม่ อย่างไรก็ตามความคิดที่เราไม่ชอบหรือความคิดตัดสินนั้นบอกให้เรารู้ถึงแบบแผนความคิด ความเชื่อหลักของเรา ความเชื่อหลักบอกให้รู้ว่าเราคิดกับตัวเองและผู้อื่นอย่างไร
  5. ตั้งคำถามกับตัวเอง ความคิดหรือความเชื่อนั้นมีประโยชน์ไหม?  เมื่อฉันเชื่อแบบนั้นมันเป็นอุปสรรคขัดขวางฉัน ทำให้ฉันไม่สามารถดูแลสิ่งสำคัญในชีวิตฉันหรือไม่?

 

วิธีการรับมือกับอารมณ์ด้านลบ

  1. เมื่อเกิดอารมณ์ด้านลบ ให้สังเกตและตั้งคำถามว่าฉันกำลังมีอารมณ์อะไรอยู่?
  2. อารมณ์นั้นเข้มข้นแค่ไหน ร่างกายของฉันรู้สึกอย่างไร มันส่งผลกับร่างกายอย่างไร?
  3. ยอมรับและเฝ้าดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกาย ให้เป็นส่วนหนึ่งของปัจจุบันขณะ
  4. ให้เวลากับตัวเองที่จะสังเกตและรับรู้ความรู้สึกในร่างกายอย่างเต็มที่ ประสานลมหายใจเข้าออก เฝ้าดูการเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงและการหายไป
  5. มองให้เห็นและค้นหาว่า อารมณ์ความรู้สึกด้านลบนั้นบอกให้เรารู้ถึงความต้องการที่สำคัญและจำเป็น  มนุษย์ทุกคนนั้นมีความต้องการพื้นฐาน เช่นการยอมรับ ความรัก ความปลอดภัย ความอยู่รอด การพักผ่อน ฯลฯ 

            5.1 อารมณ์ด้านลบเกิดขึ้น นั่นหมายความว่าความต้องการที่สำคัญของเราบางอย่างไม่ได้รับการดูแล

            5.2  อารมณ์ด้านบวกเกิดขึ้น หมายความว่า ความต้องการด้านลึกของเราบางอย่างได้รับการดูแล

     การให้เวลากับตัวเองได้ค้นหาคำตอบจากอารมณ์นั้น เป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ควรหลบเลี่ยง ต่อสู้ ตัดสินและผลักไส

  1. มีความเมตตาและกรุณาต่อตัวเองด้วยการให้เวลาเรียนรู้วิธีที่จะดูแลความต้องการด้านลึกของตัวเอง 
  2. เท่าทันและระวังการกระทำ ลงมือกระทำแบบที่จะทำให้คุณเคารพต่อตัวเอง รักตัวเองและเป็นผลดีต่อสุขภาพ

หากความต้องการนั้นเกี่ยวข้องกับคนอื่น ก็อาจจะต้องบอกกล่าว และร้องขอด้วยความจริงใจและกรุณา 

 

เมื่อเราเท่าทันความคิด เราก็จะรับรู้และเท่าทันอารมณ์และความรู้สึกทางร่างกาย  

เมื่อเรายอมรับ อนุญาตและเท่าทันอารมณ์ความรู้สึกด้านลบเราจะเข้าใจและจัดการดูแลมันได้ดีขึ้น  

การฝึกการเจริญสตินั้นคือการฝึกที่จะยอมรับและเท่าทันกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเรา โดยไม่ตัดสิน ต่อสู้ และหลบหนี

ยิ่งเราฝึกมากเท่าไหร่ เราก็จะมีความกรุณาและเมตตาต่อตัวเองและผู้อื่นมากขึ้น 

เมื่อเราเข้าใจและตระหนักรู้ต่อความรู้สึกและความต้องการที่สำคัญของตัวเองได้มากขึ้นเพียงไร เราก็จะเข้าใจและตระหนักรู้ถึงความรู้สึกและความต้องการที่จำเป็นของผู้อื่นได้ดีขึ้นด้วย

หากวิธีการฝึกที่แนะนำในนี้ยากที่จะทำตามในชีวิตประจำวัน  โดยเฉพาะรายละเอียดที่ซับซ้อนในการฝึกรับมือกับอารมณ์ในขณะที่มันกำลังเกิด   ผู้เขียนยินดีที่จะแนะนำวิธีการฝึกแบบตัวต่อตัว สนใจติดต่อสอบถามหลักสูตรการเรียนเพื่อทำความเข้าใจกับอารมณ์ ความต้องการที่จำเป็นลึกๆ ที่สอดคล้องกับอารมณ์และหาทางดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อสุขภาพที่ดีและชีวิตที่มีสุขภาวะได้ โดยอีเมล์มาที่ yosudabliss@gmail.com ค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียนได้ที่ www.yosuda.com

*ความหมายคือ Needs ซึ่งหมายถึงความจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์ ที่ต่างไปจากความต้องการทั่วไป (อยาก) Wants 

เช่นเราต้องการอาหาร เพื่อดูแล Need หรือความต้องการที่จำเป็นเพื่อที่จะอยู่รอดนั่นเอง

วิธีรับมือกับความไม่สบายกายและใจ

วิธีรับมือกับความไม่สบายกายและใจ

เกศสุดา บุญงามอนงค์ Yosuda: Awakening Space

ในวันที่คุณต้องทนกับความเจ็บปวดทางร่างกายหรือถูกกระทบทางจิตใจ  เช่นมีคนทำให้คุณโกรธ เสียใจ หรือมีเรื่องราวที่ทำให้คุณกลัวและวิตกกังวล คุณอาจจะปวดหลัง หรือปวดหัว บาดเจ็บ  ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครที่อยากจะอยู่กับความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ หรือเจอกับความยุ่งยากต่างๆ

เราแต่ละคนเติบโตขึ้นมา และเรียนรู้วิธีการที่จะป้องกันความไม่สบายและยุ่งยากนั้น ด้วยแนวทางที่เหมือนกันหรือแตกต่างกันออกไป  แล้วถ้าหากคุณในจุดที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความยุ่งยากและเจ็บปวดนั้นได้อีกต่อไปล่ะ คุณจะทำอย่างไร?

บทความนี้นำเสนอวิธีการฝึกง่ายๆ ด้วยการรับรู้ เฝ้าดู ยอมรับ และเผชิญหน้ากับความไม่สบายนั้นตรงๆ ที่มีผลดีต่อสุขภาพ ต่อความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเองและคนที่สำคัญในชีวิต

ผู้เขียนได้นำประยุกต์เทคนิคของโยคะและการเจริญสติ มาใช้เพื่อพัฒนาการรับรู้ภายใน  เพื่อปรับกายและจิต ที่จะช่วยให้เราเท่าทันความคิด อารมณ์ ความรู้สึกและการกระทำ ทำให้เราค้นพบสาเหตุของความไม่สบายกายและใจตามจริง และค้นพบแนวทางที่เหมาะสมในการดูแลตัวเอง

ประเด็นที่สำคัญสำหรับผลลัพท์ที่จะได้จากการฝึกสติคือความอ่อนโยน กรุณาต่อตัวเอง การอยู่กับความไม่พึงพอใจได้อย่างไม่กระวนกระวาย แต่สามารถที่จะพักลงไปในความยุ่งยากนั้น ไม่หนีปัญหา แต่เผชิญหน้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมั่นคง และดำรงอยู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี

วิธีการฝึกง่ายๆ ทีละขั้นตอน

  1. ช้าลง และหยุดการเคลื่อนไหวใดๆ   อาจจะนั่ง ยืนหรือนอน โดยให้อยู่ในฐานการทรงตัวที่มั่นคง และสบาย สังเกตดูความไม่สบายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะอารมณ์ที่ไม่พึงใจ หรือความไม่สบายของร่างกาย
  2. ถามตัวเองว่านี่คืออะไร ? มีความรู้สึกทางอารมณ์อะไร?เช่น ความหงุดหงิด, ความกังวง,กลัว, ความผิดหวัง, อึดอัด, โกรธ.ฯลฯ แล้ว
  3. มีความคิดอะไรกำลังเกิดขึ้น ?
  4. ดึงความใส่ใจของ จิต ไปสังเกตท่วงท่าและบุคลิกของร่างกาย การวางตัวของแผ่นหลัง ศรีษะ น้ำเสียงการสื่อสาร แล้วสังเกตความรู้สึกในร่างกาย เฝ้าดูว่าที่เรียกว่าอึดอัดนั้นร่างกายตอบสนองอย่างไร หากจับไม่ได้ให้ค่อยๆ สังเกตร่างกายทีละส่วน ให้ไล่จากเท้า แผ่นหลังจนถึงศรีษระ และตั้งแต่ศหน้าผากลงมาด้านหน้าของลำตัวจนถึงหน้าท้อง ต้นขา ให้ใช้เวลารับรู้แต่ละส่วนสัก 2-3   วินาที เพื่อให้รู้ว่าความรู้สึกส่วนนั้นเป็นอย่างไร

เช่น ลมหายใจและอุณหภูมิในร่างกาย เป็นแบบไหน กล้ามเนื้อตึง เกร็ง เย็นชา เบา คลาย เกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร ให้เข้าไปรับรู้ความรู้สึกนั้นอย่างเต็มที่ ฝึกดึงจิตให้ดำรงอยู่ตรงนั้น  เฝ้าดูและยอมรับกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น

  1. เมื่อค้นพบความรู้ที่ไม่สบายในส่วนใดส่วนหนึ่ง ให้หยุดความใส่ใจของจิตอยู่ตรงบริเวณนั้นสัก10 วินาที เฝ้ารับรู้จนรู้สึกได้ชัดเจนว่าร่างกายส่วนบริเวณนั้นมีอาการเช่นไร หายใจเข้าออก ประสานไปด้วย นับ 3-5 ลมหายใจ
  2. ถ้าคุณพบว่าคุณกำลังเกร็งกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งไว้  เช่นพบว่ากำลังห่อไหล่ หรือเกร็งกล้ามเนื้อกราม กัดฝัน ขมวดคิ้ว เอียงคอเป็นต้น ให้จัดปรับร่างกายส่วนนั้นให้ผ่อนคลาย รำลึกรู้อยู่เสมอว่าคุณสามารถจัดปรับท่วงทาของร่างกายและกล้ามเนื้อของคุณให้คลาย และมั่นคงได้เสมอ เมื่อคลายทั้งหมดแล้วให้ประสานลมหายใจเข้าออกกับบริเวณที่คลายนั้นอีก 3-5 ลมหายใจ
  3. ย้ายการรับรู้ไปความรู้สึกของร่างกายส่วนอื่นๆที่อยู่ตรงข้ามและรอบๆที่มีความรู้สึกเบาและคลายกว่า ให้ขยายการรับรู้เป็นวงกว้าง คือรวมเอาทั้งด้านที่ไม่สบายและสบายไว้ด้วยกัน อยู่กับความรู้สึกนี้สัก 5 ลมหายใจ
  4. หายใจเข้าลึกจนหน้าอกขยาย นับถึงสาม แล้วค่อยๆหายใจออกช้าๆ นับถึงหก คลายหน้าอก ซี่โครงและหน้าท้อง ทำสามรอบ แล้วหายใจเข้าหน้าท้องขยายพองขึ้น แล้วหายใจออกคลายหน้าท้องและผ่อนคลายร่างกายทุกส่วนพร้อมกับตอนที่หายใจออก ทำเช่นนี้ 5-10 รอบลมหายใจ
  5. ในที่สุดผ่อนคลายลมหายใจและเฝ้าดูลมหายใจตามธรรมชาติ พักจิตลงไปในร่างกายทุกส่วน ไม่ว่าจะรู้สึกบวกหรือลบ เก็บความรู้สึกสงบนิ่งและผ่อนคลายของจิตไว้สักครู่ พร้อมกับค่อยๆ รับรู้บรรยากาศรอบๆ ตัว ขอบคุณและชื่นชมตัวเองที่ได้ให้เวลาในการปฏิบัตินี้

เป้าหมายหลักในการฝึกนี้ไม่ใช่การขจัดความไม่สบายของร่างกาย หรือตัดปัญหาในชีวิตที่กำลังเผชิญ แต่เป็นการฝึกเรียนรู้ที่จะยอมรับและผ่อนคลายกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น หากคุณมีปัญหาทางร่างกายและจิตใจที่คั่งค้างสะสม คุณจำเป็นที่จะต้องแก้ไข พบผู้ชำนาญการแต่ละด้านที่จะช่วยให้คุณค้นพบสาเหตุของปัญหาและแนวทาง บำบัดหรือแก้ไขที่ถูกต้อง เหมาะสม

ปล่อยวางความคิดถูกหรือผิด

ถ้าคุณไม่สามารถทำตามวิธีการต่างๆ ได้ทั้งหมด หรือไม่ว่าจะมีความคิดหรือความรู้สึกอะไรเกิดขึ้น จะเป็นความคิดหรือความรู้สึกที่เราชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ให้ยอมรับและรับรู้ ระวังความเชื่อในความคิดที่ตัดสินตัวเอง  อ่อนโยนกับตัวเอง ให้รับรู้ว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร มีอารมณ์อะไรและความรู้สึกทางร่างกายอย่างไร แล้วให้ปล่อยวางความคิดนั้น

คุณสามารถฝึกได้ทุกเวลา

สำหรับผู้ที่ฝึกโยคะ (อ่านเพิ่มเติม ตั้งมั่นอยู่บนฐานกายและใจที่มั่นคง)

หรือออกกำลังกายแบบต่างๆ คุณสามารถนำเทคนิคนี้ไปพัฒนาและปรับใช้ได้ โดยพักลงไปในร่างกายที่ไม่สบาย ไม่ว่าคุณจะอยู่ในอริยาบทใด หรือทำอะไรอยู่

แต่ก็ไม่ลืมที่จะขยายการรับรู้ไปสู่ความรู้สึกด้านบวก ด้านเบา หรือสบายของร่างกาย และสิ่งรอบๆ เพื่อไปช่วยเสริมด้านหนัก ตึงเครียด ทุกอารมณ์หรือความรู้สึกของร่างกายที่เกิดเป็นความปกติธรรมดาของมนุษย์  เป็นความจริงของชีวิต ฝึกเรียนรู้ที่จะยอมรับความรู้สึกของอารมณ์และร่างกายทุกๆ ด้าน

เมื่อเรายอมรับและเข้าใจความจริงเหล่านี้ เราก็จะปล่อยวางความคาดหวังที่เกินความจริงไปได้ไม่ยาก

เหตุผลทางวิทยาศาสตร์

การฝึกให้จิตดำรงอยู่กับความรู้สึกของร่างกายล้วนๆ  เป็นเทคนิคที่จะช่วยให้เราลดความคิดปรุงแต่งของความคิดที่นำไปสู่อารมณ์ด้านลบ ไม่ทำให้ความเครียด หรือความเจ็บปวดเพิ่มระดับมากกว่าที่มันควรจะเป็น

เมื่ออารมณ์ด้านลบเพิ่มขึ้นอาการตึง เครียดในร่างกายก็เพิ่มขึ้น หากคุณกำลังเผชิญหน้ากับความเจ็บป่วยของร่างกาย ก็ยิ่งดูเหมือนว่าความเจ็บนั้นช่างปวดกว่าที่เป็น ระบบประสาทที่เรียกว่า Sympathetic  จะถูกกระตุ้นให้ทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้ หัวใจเต้นเร็วขึ้น กล้าเนื้อเกร็งตัว ความดันโลหิตสูงขึ้น หากเป็นอย่างเรื้อรังสามารถทำให้เส้นเลือดในสมองแตกได้ มีปัญหาในการขับถ่าย  น้ำตาลและไขมันในเลือดสูงขี้น ระบบต่างในร่างกายแปรปรวนเช่น เป็นโรคกระเพราะอาหาร เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และประจำเดือนมาไม่ปกติ

แต่ถ้าหากคุณสามารถดำรงจิตให้ตั้งมั่นอยู่กับร่างกาย จัดปรับและคลายร่างกายด้วยการปรับลมหายใจ ตามวิธีการข้างต้น ก็จะช่วยให้ระบบประสาทผ่อนคลาย Parasympathetic ทำงาน ความตึงเครียดไม่ขยายออกไป ช่วยปรับระบบต่างๆในร่างกายทำงานได้ตามปกติ ต่อเนื่อง แม้ว่าความเจ็บปวดของร่างกายจะยังคงอยู่

คำเชิญชวน

หากคุณได้ลงมือฝึกตามวิธีการขั้นต้น คุณจะพบว่านอกจากจะมีประโยชน์อย่างมากต่อร่างกายแล้ว  สิ่งสำคัญยิ่งที่ได้ตามมาคือการเป็นผู้มีทักษะในการที่จะอยู่กับความยุ่งยาก ด้วยสภาวะจิตที่มั่นคง สงบนิ่งและผ่อนคลาย พร้อมความสามารถในการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพไม่ถูกควบคุมด้วยอารมณ์ด้านลบ  มีความมั่นใจตัวเอง มีอิสระ ปิติ สุขและสุขภาวะที่ดี

ผู้เขียน: เกศสุดา บุญงามอนงค์ที่ปรึกษาทางชีวิต, ครูผู้สอนการเจริญสติ, ครูโยคะและครูนพลักษณ์, ผู้เขียนหนังสือ “โยคะแห่งสติ” ผู้ก่อตั้ง http://www.yosuda.com/

นพลักษณ์แห่งสติช่วยให้คุณเป็นอิสระภาพและตระหนักรู้ต่อตัวเองอย่างไร?

ตอนที่หนึ่ง: วิธีค้นหาบุคลิกภาพหรือตัวตนหลักตามทฤษฏีนพลักษณ์

เกศสุดา ชาตยานนท์ บุญงามอนงค์

นพลักษณ์

เป็นเหมือนศาสตร์ทางจิตวิทยาหนึ่ง ที่นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับมนุษย์ตามบุคลิกต่างๆ ได้อย่างลุ่มลึก หลากหลายมิติและแง่มุม เฉกเช่นเรื่องราวของชีวิตมนุษย์ เป็นศาสตร์ที่ทรงพลังในการศึกษาบุคลิกภาพของคนที่มีเก้าลักษณะ โดยแต่ละลักษณะมีวิธีการมองโลกและกระทำต่อสถานการณ์ต่างๆ ต่างกัน

การเจริญสติ

สติคือ ผู้เฝ้าดู คือความสามารถในการจำได้ ตระหนักและ รับรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อันสัมพันธ์กับตัวเรา และภายในตัวเรา  โดยเฉพาะความคิด ความรู้สึกและการกระทำ ในแต่ละขณะ มองทุกสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงอย่างไม่ตัดสิน  ( หรือถ้าตัดสินก็รับรู้ว่ามีความคิดตัดสินเกิดขึ้น ) การเจริญสติ ก็คือการพัฒนาการดำรงจิตให้อยู่กับปัจจุบัน และรับรู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายในได้ต่อเนื่องมากขึ้น

นพลักษณ์และการเจริญสติ

การเจริญสติจะช่วยให้ผู้ที่ศึกษานพลักษณ์ เรียนรู้ที่จะช้าลง เพื่อที่จะสังเกต และจดจำความคิด อารมณ์ ความรู้สึกและการกระทำ ไม่ว่าจะเราจะชอบหรือไม่ชอบ ไม่ว่าจะอยากให้มีอยู่หรืออยากจะผลักใส ปิดบังมันเอาไว้ แต่อารมณ์ ความรู้สึกทางร่างกายและการกระทำนั้นเกิดมาจากความเชื่อของเรา ซึ่งบอกให้รู้เกี่ยวกับตัวตนของเรา สติซึ่งเป็นเฝ้าดูจะช่วยให้เห็นความคิดที่เกิดขึ้นตามจริง แล้วเราก็จะค้นพบตัวตน และลักษณ์หลักของเรา โดยเฉพาะรูปแบบความคิดที่มักจะสร้างปัญหาและความทุกข์

นพลักษณ์ มีข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผล เข้าใจได้และตรวจสอบได้เกี่ยวกับรูปแบบความคิด ความเชื่อของคนแต่ละลักษณ์นั้น การฝึกสติร่วมกับการเรียนรู้นพลักษณ์ จึงจะสามารถช่วยให้เราพัฒนาการตระหนักรู้ที่มีต่อตัวเอง กรุณาและยอมรับตัวเอง และผู้อื่น อีกทั้งช่วยฝึกให้เราเป็นอิสระจากความคิดความเชื่อนั้น (ศึกษาเพิ่มเติมในบทต่อไป)

ประสบการณ์ในการเรียนรู้ตัวเองจากผู้เรียนนพลักษณ์คนหนึ่ง

“จากการที่ได้ศึกษานพลักษณ์และทำงานกับตัวเอง มา 20 ชั่วโมงกับครูเกด ถ้าจะบอกว่าเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ก็คงจะพูดได้เต็มปาก เพราะฉันคิดว่า ตัวฉันที่ฉันเคยรู้จัก จริงๆแล้วมันไม่ใช่ฉันในแบบที่ฉันคิด ฉันเคยคิดว่าฉันมีแต่ด้านดีๆมากกว่าด้านที่แย่ และก็คิดเสมอว่าความคิดของฉันนั้นมักจะถูกเสมอ แต่เมื่อได้ศึกษาทำความรู้จักตัวเองจริงๆ ก็พบว่าฉันเสแสร้งและหลอกตัวเอง พยายามที่จะปิดบังซ่อนเร้นความเปาะบาง อ่อนไหวในตัวเองด้วยการแสดงออกว่าเป็นคนที่เข้มแข็ง และมั่นใจในตัวเอง เพราะด้วยความกลัวที่ซ่อนอยู่ภายใน”

ดาวรุ่ง โกลเบ้ นักศึกษาปริญญาโทด้านการให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยา

อาจจะมีคนหลายคนที่คิดเหมือนดาวรุ่งว่า ฉันรู้จักตัวเองดี แต่อาจจะไม่ได้ตระหนักว่าสิ่งที่รู้นั้นเป็นความรู้ที่ผิวเผิน ไม่ใช่ทั้งหมดที่สมบูรณ์เกี่ยวกับตัวเอง

มนษย์เรานั้นมีหลากหลายมิติ หลายแง่มุม มีทั้งด้านที่เราชอบและไม่ชอบ ด้านที่เราเปิดเผยและซ่อนเร้น ซึ่งเหล่านั้นก็ล้วนแล้วแต่สิ่งที่ถูกเรียกรวมว่าเป็นตัวเรา

 ฉันรู้จักตัวเอง เช่น ฉันรู้ว่าฉันชอบและไม่ชอบอะไร ฉันคาดการณ์ได้ว่าฉันจะทำแบบไหน

การรู้เท่าทันตัวเอง: ฉันสังเกตเห็นความคิด อารมณ์ และการกระทำว่าฉันมีแนวโน้มที่จะทำแบบนี้ แบบนั้น ต่อสิ่งที่ฉันชอบหรือไม่ชอบ

การที่จะรู้เท่าทันและเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้ง ด้วยความเป็นจริงและแท้จริงนั้น คุณต้องการการเรียนรู้นพลักษณ์อย่างมีสติด้วย เพราะการฝึกการเจริญสติจะช่วยให้ผู้เรียนไม่เพียงแต่รู้จักตัวเอง  แต่มีความสามารถในการตระหนักรู้ เท่าทันตัวเอง มีความสามารถที่จะสังเกตความคิด ความรู้สึกทางอารมณ์และร่างกายในแต่ละขณะและสถานการณ์ และรู้ได้ว่ามันส่งผลต่อภาษาท่าทางและการกระทำของเราอย่างไร อย่างไม่ตัดสิน เพิ่มความฉลาดทางอารมณ์และช่วยให้ผู้มีฝึกฝนเรียนรู้มีความเข้าใจและตระหนักรู้ต่อผู้อื่นด้วย

นพลักษณ์เปรียบเสมือนแผนที่ที่ช่วยให้คุณค้นพบแก่นความเชื่อ ทัศนคติ ความคิดที่ติดยึด ( กิเลส) และความรู้สึกทางอารมณ์ที่มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ แล้วยังชี้ถึงแรงจูงใจหรือแรงผลักที่สัมพันธ์กับทัศนคตินั้น กลไกในการป้องกันตนเอง คำพูด หรือความคิดที่อยู่ภายใต้จิตสำนึกที่เกิดขึ้นเสมอและมีอิทธิภาพต่อการแสดงออก อีกทั้งกล่าวถึงคุณธรรมและศักยภาพสูงสุดด้วย

มีคนจำนวนหนึ่งบอกผู้เขียนว่ารู้จักนพลักษณ์มาหลายปี แต่ก็หาลักษณ์หลักไม่เจอสักที หรือบางคน เข้าใจผิดในลักษณ์ของตัวเอง คิดว่าตัวเองเป็นลักษณ์ใดลักษณ์หนึ่ง แต่ปัญหาเดิมๆ ยังคงเกิดขึ้น ดำเนินอยู่วนเวียน หาทางจัดการไม่ได้   ความเข้าใจผิดในลักษณ์หรือการรู้จักนพลัษณ์อย่างผิวเผิน และไม่รู้วิธีการศึกษา เช่นเพียงแค่ทำแบบทดสอบออนไลน์หรือในหนังสือ หรือเพียงแต่อ่านหนังสือ ดูวิดิโอ คุยกับคนเพียงอย่างเดียว ก็อาจจะทำให้ผู้เรียน ไม่สามารถเข้าถึงประโยชน์สูงสุดของเครื่องมือนพลักษณ์ได้ ความเข้าใจผิด ผิวเผินที่จะเห็นได้บ่อย คือการจัดกรอบให้ตัวเองหรือผู้อื่นจากลักษณะพฤติกรรมบางอย่าง และการกระทำบางอย่าง ตามคำเรียกชื่อของลักษณ์นั้นๆ เช่น

  • ฉันเป็นคนชอบทำสิ่งต่างๆให้สมบูรณ์แบบ ถูกต้อง ฉันเป็นคนมีระเบียบ = ฉันเป็นคนลักษณ์หนึ่ง ผู้สมบูรณ์แบบหรือนักปฏิรูป
  • ฉันชอบที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ชอบเป็นผู้ให้ มันรู้สึกดีมากที่ได้เอาใจผู้อื่น = ฉันเป็นคนลักษณ์สอง คือผู้ให้ แม่พระ หรือนักบุญ
  • ฉันทำงานหนัก ประสบความสำเร็จหลายๆ ด้าน และฉันชอบที่จะดูดี = ฉันเป็นคนสาม เป็นผู้มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ หรือเป็นนักแสดง
  • ฉันเป็นคนที่ละเอียดอ่อน มีความคิดสร้างสรรค์ และชอบเป็นคนที่แตกต่าง = ฉันคือคนลักษณ์สี่ เป็นศิลปินและเป็นผู้ที่มีเอกลัษณ์เฉพาะตัว
  • ฉันชอบที่จะอยู่ตามลำพัง คอยสังเกต เก็บข้อมูล ชอบอ่านและคิดมาก = ฉันคือคนลักษณ์ห้า นักสังเกตการณ์ หรือนักคิด หรือผุ้แสวงหาความรุ้
  • ฉันชอบตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ต้องการความมั่นใจว่าสิ่งต่างๆ จะปลอดภัยและเป็นคนที่มีความจงรักภักดี = ฉันเป็นคนลักษณ์หก นักตั้งคำถาม หรือผุ้จงรักภักดี
  • ฉันชอบความสนุก ชอบการผจญภัย และชอบวางแผน = ฉันคือคนลักษณ์เจ็ด นักผจญภัย นักวางแผน หรือ ผู้กระตือรือร้น
  • ฉันเข้มแข็ง ชอบปกป้องผุ้อื่น หรือชอบที่จะเป็นผู้นำ = ฉันคือคนลักษณ์แปด หัวหน้า ผู้นำ หรือผู้ปกป้อง
  • ฉันชอบหลีกเหลี่ยงความขัดแย้ง เป็นคนใจดี หรือ/และ เป็นคนง่ายๆ อะไรก็ได้ = ฉันคือคนลักษณ์เก้า ผู้นิยมคามสะดวกสบาย หรือผู้ใฝ่สันติ

การจัดกลุ่มให้ตัวเองและคนอื่นด้วยข้อมูลหลักๆ เหล่านี้  อาจจะยังไม่เพียงพอและแม่นยำในการค้นหาบุคลิกภาพหลักได้อย่างแท้จริง คุณจำเป็นต้องฝึกสังเกตและรับรู้ถึง ความต้องการ (needs ) แรงจูงใจ ( Motivation, Drive ) ในการกระทำต่างๆ ของคุณ และผู้อื่น อีกทั้งเรียนรู้ นพลักษณ์ด้วยการทำความเข้าใจกับทฤษฏีนี้อย่างเป็นวิทยาศาตร์ คือตั้งคำถามและตรวจสอบ นำไปใช้พิจารณาและฝึกฝนประกอบการเรียนรู้

นี่คือแนวทางต่างๆ ที่คุณสามารถนำไปพิจาณา เรียนรู้ประกอบกับการอ่าน ค้นคว้า และรับฟัง เพื่อที่จะทำความเข้าใจตัวเองและค้นหาลักษณะลักษณ์ของคุณ

  • ฝึกพัฒนาผู้สังเกตภายใน ด้วยการเจริญสติ

ให้เวลากับตัวเองในแต่ละวัน หยุดกิจกรรมทั้งหมด นั่งหรือยืนในท่าที่มั่นคง สบาย ดึงความใส่ใจมาที่ลมหายใจ หายใจลึกยาว หรือตามปกติ ( 5-10 รอบ -ขึ้นอยู่กับเวลาที่ต้องการ) แล้วเคลื่อนความใส่ใจของจิตไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย สังเกตว่าส่วนใน ดึงหรือสบาย หนักหรือเบา หรืออาการต่างๆ สังเกตและรู้สึกกับส่วนต่างๆ ตามที่เป็นจริง   มีความรู้สึกทางอารมณ์อะไรบ้างไหม มีความคิดอะไรเกิดขึ้นบ้าง รับรู้และจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ตามเป็นจริง สุดท้ายก็กลับมาที่ลมหายใจอีกครั้งเท่าที่คุณมีเวลา ฝึกเช่นนี้ทุกวัน วันละสองสามรอบเพื่อพัฒนาการรับรู้ภายใน

  • ทุกครั้งที่มีความเครียดให้สังเกตรูปแบบของความคิดที่ทำให้เกิดอารมณ์ด้านลบอยู่เสมอ ให้จดบันทึกเอาไว้ รูปแบบของความคิดเหล่านั้น เมื่อเราใสใจเฝ้าดูก็จะช่วยให้เราค้นพบทัศนคติ และความเชื่อ ซึ่งในทฤษฎีของนพลักษณ์ได้กล่าวถึงประเด็นความเชื่อของคนแต่ละลักษณ์
  • สังเกตอารมณ์ด้านลบที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในยามที่เราเครียด จดบันทึกไว้ว่าเป็นอารมณ์อะไรสิ่งนี้จะบอกถึงพื้นฐานทางอารมณ์หรือศูนย์พลังหลัก (ศูนย์หัว,ใจ หรือ,ท้อง) ตามทฤษี นพลักษณ์
  • สังเกตวิธีการกระทำที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่ทำให้เราเครียด อย่างเช่นเรามีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยง ต่อสู้ ปรับตัว จมดิ่ง นิ่งเงียบ เก็บตัว ต่อสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร สิ่งเหล่านี้อาจบอกถึงลักษณะการใช้พลังงาน (การกระทำ หรือการแสดงออก) ในลักษณะที่เป็นพลังรุกหรือพลังรับหรือมีทั้งสองอย่างปะปนไป หรือการรับมือในสถานการณ์ที่ต้องป้องกันตัวเอง (Defense mechanism) ไม่ว่าจะเป็นการกระทำแบบไหนล้วนเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราได้เรียนรู้จักตัวเองเสมอ
  • ค้นหาจุดแข็ง จุดอ่อนของตัวเอง ด้วยตัวเองและขอให้คนที่รู้จักคุณดีช่วยหา เปิดใจรับฟัง อีกทั้งสังเกตถึงแนวโน้มในการรับฟังของคุณว่า คุณ ชอบรับฟังในด้านที่เป็นข้อดีมากกว่าจุดอ่อน หรือไม่ยอมรับจุดอ่อน หรือชอบที่จะสนใจในจุดอ่อนมากกว่าจุดแข็ง สังเกต ค้นคว้าและตรวจสอบแน้มโน้มนั้น จะทำให้เข้าใจตัวเองได้มากขึ้นและอาจจะช่วยค้นหาลักษณ์หลักหรือรองได้ ทฤษฏีนพลักษณ์กล่าวถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของคนแต่ลักษณ์ด้วย
  • สังเกตว่าลักษณะนิสัยและการกระทำอะไรของคนอื่นที่คุณไม่ชอบ อึดอัด หรือไม่สบายใจทุกครั้งที่เกิดความรู้สึกด้านลบกับพฤติกรรมของผู้คน ให้จดบันทึกไว้ว่า อะไร หรือความคิดไหนที่ทำให้เราไม่พบใจ   ถามตัวเองว่าคุณคาดหวังอยากให้คนอื่นทำเป็นอย่างไร สิ่งนี้จะทำให้คุณค้นพบความเชื่อ ความคาดหวัง และการให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ ที่คุณชื่นชอบ และพยายามที่จะพัฒนาคุณค่านั้นในตัวคุณเองสิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยให้คุณค้นพบตัวตนหลัก หรือลักษณ์หลักได้เช่นกัน
  • สังเกตดูความคิด และการกระทำที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในเวลาที่คุณอยู่ในสภาพ แวดล้อมที่ปลอดภัย ทำให้เราเป็นตัวของตัวเอง และผ่อนคลาย ซึ่งนพลักษณ์ได้อธิบายถึงในทฤษฎีของลูกศร
  • สังเกตความคิดและการกระทำที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในยามที่คุณอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต้องปรับตัว อึดอัดหรือตึงเครียด หัวข้อนี้ก็เช่นกันสามารถค้นหาขัอมูลจากนพลักษณ์ได้จากทฤษฏีของลูกศร
  • ไม่ว่าในการกระทำใดๆ ของเราล้วนแล้วแต่มีความต้องการเบื้องลึก (needs) ให้สังเกตแนวโน้มของการใส่ใจของจิต การสังเกตนี้จะช่วยให้เราค้นพบศูนษ์พลังหลักและลักษณ์หลักได้ง่ายขึ้น นพลักษณ์แนะนำลักษณะการใส่ใจของจิตของแต่ละลักษณ์

ประโยขน์ที่จะได้รับจากการฝึกเจริญสติกับศึกษานพลักษณ์อย่างต่อเนื่องคือ

  1. มีความเข้าใจ ยอมรับและกรุณาต่อตัวเองและผู้อื่น
  2. มีความสามารถในการเท่าทันและตระหนักรู้ถึง ความเชื่อ อารมณ์และการกระทำของตัวเอง (มีความฉลาดทางอารมณ์)
  3. มีความสามารถในการตระหนักรู้ถึงความเชื่อ อารมณ์และการกระทำของผู้อื่น (มีความฉลาดทางอารมณ์)
  4. ค้นพบวิธีการในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้คนรอบข้าง
  5. สามารถบำบัดและลดความตึงเครียดในชีวิต มีความสุข ความแจ่มใสและสงบในการใช้ชีวิตได้มากขึ้น
  6. ตระหนักรู้ เท่าทันและเข้าใจปัญหาที่ซ่อนเร้น อันเป็นสาเหตุของความเครียดและปัญหาในความสัมพันธ์
  7. พัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีต่อตัวเอง ผู้อื่นและการงาน
  8. มีความยืดหยุ่นในการใช้มองโลกและใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น
  9. ช่วยให้ค้นพบและพัฒนาศักยภาพสูงสุดของตัวเอง และนำไปสู่การใช้ชีวิตได้ตามที่มุ่งหวัง ตามคุณค่าที่วางไว้

ถ้าคุณยังไม่พบลักษณ์หลัก หรือถ้าคุณรู้จักลักษณ์ของคุณ แต่ยังไม่สามารถค้นพบศักยภาพของตัวเอง ไม่สามารถจัดการและรับมือกับปัญหาความสัมพันธ์ และยังคงเครียดกับการตัดสินต่อตัวเองและผู้อื่น ถ้าคุณยังไม่สามารถค้นพบ เข้าใจและเท่าทันในความคิดความเชื่อและแรงจูงใจในการกระทำ ว่ามันส่งผลต่อการกระทำในชีวิตเราอย่างไร หรือคุณต้องการเรียนรู้ว่าจะใช้นพลักษณ์ะอย่างไรเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด

หากคำแนะนำเหล่านี้ซับซ้อน ยากแก่ความเข้าใจ ผู้เขียนแนะนำให้หาครูหรือโค้ชผู้มีทักษะ ประสบการณ์ และความรู้ ด้านการเจริญสติและนพลักษณ์ ครูและโค้ชที่มีทักษะในการฟังคุณได้อย่างเต็มที่ ไม่คิดแทน ตั้งคำถามเป็น ไม่ตัดสิน เป็นผู้ที่คุณสามารถเชื่อถือได้ และเป็นผู้ปฏิบัติเฉกเช่นที่ได้ให้คำแนะนำกับผู้อื่น

—————

ติดตามตอนต่อไป: หนทางไปสู่อิสระและผ่อนคลายจากตัวตน จากการศึกษานพลักษณ์ด้วยแนวทางแห่งสติ

ผู้เขียน เกศสุดา ชาตยานนท์ บุญงามอนงค์ ครูเกด

ครูผู้มีประสบการณ์ในการสอนการเจริญสติ และโยคะมามากกว่า 20 ปี  ผู้เขียนหนังสือ”โยคะแห่งสติ” และครูผู้สอนนพลักษณ์มา 17 ปี   ครูเกดนำทั้งสองศาสตร์นี้ไปใช้ในงานบำบัดและการให้คำปรึกษากับผู้ที่มีความเครียด ทางจิตใจและร่างกาย ปัญหาในความสัมพันธ์และการพัฒนาตนเอง

 

 

ศิลปะของการหายใจ ศิลปะในการปล่อยวางสร้างสุข โดย เกศสุดา ชาตยานนท์ บุญงามอนงค์

ต้นไม้สลัดใบเก่าทิ้ง เพื่อรักษาลำต้นและรอวันให้ใบใหม่ได้ผลิออก สัตว์บางชีวิตต้องสลัดทิ้งคราบเก่า เพื่อที่จะได้ผิวกายใหม่และเติบโตขึ้น
ร่างกายเราจะรู้สึกเบา หากระบบขับถ่ายได้ทำงาน และรู้สึกดียิ่งขึ้นเมื่อได้รับอาหารใหม่ๆ เข้าสู่ร่างกาย เรายังคงมีชีวิตอยู่ได้ เมื่อเราหายใจเข้าแล้วก็ได้หายใจออก
ร่างกายเปรียบเสมือนบ้านที่เราอาศัยอยู่
เราสามารถนำสิ่งของใหม่ๆ เข้ามาในบ้านของเรา หากบ้านมีพื้นที่ว่างที่รองรับ
เช่น ระบบหายใจ การหายใจช่วยให้ชีวิตดำรงอยู่
ร่างกายเราต้องการออกซิเจน ออกซิเจนเป็นอาหารที่จำเป็นที่จะหล่อเลี้ยงให้ระบบต่างๆ ดำรงอยู่
การหายใจเร็วและสั้นร่างกายจะได้รับออกซิเจนในปริมาณน้อย และไม่สามารถขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกได้เต็มที่ ร่างกายก็จะมีกรดแลกติกเกิน ซึ่งทำให้ร่างกายอ่อนแอ ความสามารถในการฟื้นฟูและซ่อมแซมร่างกายน้อยลง นำไปสู่ความผิดปกติและเจ็บป่วยได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วย หรือผู้ที่อยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิตจะพบว่าอัตราการหายใจออกสั้นลงเรื่อยๆ (ค้นอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ” Tuesday with Morris “ by Mitch Albom )
การฝึกหายใจให้ลึกและยาวช่วยให้ออกซิเจนมีโอกาสเข้าสู่ปอดได้มากกว่าการหายใจปรกติถึง 12 เท่า ช่วยการสูบฉีดของน้ำเหลืองให้ดีขึ้น
ช่วยกำจัดสารพิษ สารเคมีต่างๆ การหายใจออกเป็นการนำเอาก็าซของเสีย คือคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากปอด การหายใจออกตามธรรมชาติ จะมีอากาศที่ตกค้างอยู่ 2,400 ลบ.ซม แต่ถ้าเราฝึกหายใจออกเต็มที่ ของเสียจะตกค้างอยู่ 1,100 ลบ.ซม

ด้วยเหตุนี้ ยิ่งหายใจออกได้มากเท่าไหร่ ของเสียที่ตกค้างก็จะออกไปได้มากเท่านั้น ทำให้เรามีพื้นที่ว่างในปอดที่จะเติมอากาศดี ที่เป็นออกซิเจนเข้าปอดได้มากขึ้นเท่านั้น ผู้เขียนจะเน้นการฝึกลมหายใจหรือปราณยามะ ที่จะ
ช่วยให้อัตราการหายใจออกยาวมากกว่าลมหายใจเข้าได้สองเท่า ที่ในห้องเรียนโยคะ อยู่ทุเสมอ

นอกจากประโยชน์ที่ได้ต่อร่างกายแล้ว การหายใจออกยาวก็จะส่งผลโดยตรงต่ออารมณ์และระบบประสาทต่างๆ
ระบบประสาทผ่อนคลายที่เรียกว่า พาลาซิมพาเธติคจะทำงานได้ดีขึ้น และเมื่อระบบนี้ทำงาน จะ ช่วยลดความตึงเครียด ลดความวิตกกังวล ลดอารมณ์ที่รุนแรง เข้าสู่ความสงบนิ่ง และผ่อนคลาย การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น กล้ามเนื้อต่างๆ คลายตัว เช่นกล้ามเนื้อหูรูด ระบบขับถ่ายดีขึ้น การหลั่งสารคัดหลั่งต่างๆ ดีขึ้น และเมื่อฝึกอย่างต่อเนื่องประจำ จะทำให้ผู้ฝึกมีแรงใจ ความมุ่งมั่นตั้งใจที่ดี ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ที่ดีขึ้น ช่วยพัฒนาพลังสติ สมาธิ และจิตใจให้ละเอียดอ่อน สงบและเข้มแข็งขึ้น ผู้ที่เจ็บป่วย ก็ช่วยให้ร่างกายได้รับการฟื้นฟูจากความไม่สมดุล
เป็นการเติมพลังให้ร่างกายและชีวิต ที่ปลอดภัยและยั่งยืน
หลักการในการฝึกหายใจดั่งกล่าว เปรียบเสมือนกับศิลปะในการดำเนินชีวิต เพื่อที่จะเติมพลัง และรับสิ่งใหม่ๆ ที่ดีเข้ามาในชีวิต เราสามารถจัดสรรให้มีพื้นที่ว่าง ที่โล่ง ด้วยการปล่อยวาง ละทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นละทิ้ง ความยืดมั่นใน ชุดความเชื่อ ความคิด อารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยวางเรื่องราวอดีตที่สะสมให้เกิดอารมณ์ด้านลบตกค้างในจิตใจเป็นเวลานานและส่งผลเสียต่อร่างกาย การปล่อยวางความรู้ เพื่อที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือปล่อยวางวิธีการกระทำเดิมๆ ที่สร้างปัญหาในความสัมพันธ์กับผู้คน และความป่วยไข้

การสะสางข้าวของที่เรามีอยู่ในบ้านหรือที่ทำงานที่เราแทบไม่เคยได้ใช้ประโยชน์มาเป็นปี หรือหลายปี เพื่อสร้างพื้นที่โล่ง ที่สะอาด มีเพียงสิ่งของที่จำเป็น ก็ช่วยให้เราไม่ต้องเสียเวลาในการดูแล ทำสะอาดมากมาย แต่กลับช่วยให้เรามีเวลาเหลือที่จะได้ทำสิ่งดีๆ ที่จะเติมความสุขให้ชีวิตมากขึ้น

ชีวิตคือความเปลี่ยนแปลง ไหลเวียนและเปลี่ยนผ่าน เราขับถ่ายทุกวัน เราหายใจเข้าและออกทุกครั้ง เราผ่านค่ำคืนและเริ่มต้นวันใหม่อยู่เสมอ
เวลาของเราในโลกใบนี้มีจำกัดสำหรับทุกคน เราจะใช้เวลาที่มีอยู่แบบไหน

เราอยากมีชีวิตที่หนัก หรือมีชีวิตที่เบา เราอยากรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต หรือจะใช้ชีวิตกับสิ่งสะสมตกค้าง คุณเท่านั้นคือนักออกแบบชีวิตตัวจริง

อุปสรรคในชีวิตมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะฝึกเจริญสติและดูแลตัวเองก็มีมากขึ้นเท่านั้น

หลายครั้งที่ผู้เขียนได้ยินคนที่สนใจเรื่องการฝึกเจริญสติพูดถึงอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถฝึกได้สม่ำเสมอ เช่นไม่มีเวลา งานยุ่ง ต้องเดินทาง ไม่มีคนนำฝึก หรือแนวทางในการฝึก ถูกแทรกแซงหรือรบกวนจากคนรอบข้าง หรือสภาพแวดล้อม ฯลฯ

ส่วนตัวผู้เขียนกลับเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งขัดขวางในการฝึกเจริญสติ แต่กลับเป็นโอกาสที่จะช่วยส่งเสริมการฝึกฝนของเรา

การเจริญสติหมายถึง ความสามารถ ที่จะ

1. เฝ้าดู จำได้หมายรู้ ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นภายในร่างกายและจิตใจ ความคิดและความรู้สึก และสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว
2. จดจ่อ ใส่ใจและอยู่กับเป้าหมาย เหตุการณ์ที่ิกำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหายใจ อารมณ์ต่างๆ หรือกิจกรรมต่างๆที่เรากำลังทำอยู่เสมอ เช่นการรับประทานอาหาร
3. อยู่กับปัจจุบันขณะ และตระหนักรู้ว่าอะไรเกิดขึ้น ณ ขณะนั้น เราอาจจะมีความคิดเกิดขึ้น ความคิดที่อยู่ในอดีตหรือคิดไปในอนาคต แต่เมื่อเราเห็นความคิดเหล่านี้เรารับรู้อย่างมีสติและก็ดึงการรับรู้กลับมาอยู่ใส่ใจอยู่กับปัจจุบัน
4. ตระหนัก รับรู้ หรือจดจ่อสิ่งต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้วทั้ง 3 ข้ออย่างไม่ตัดสิน หรือถ้ามีความคิดตัดสินเกิดขึ้น ก็เท่าทันและปล่อยให้ความคิดนั้นผ่านไป เรารับรู้สิ่งต่างๆ อย่างที่เป็น ไม่ปรุงแต่ง หัวข้อนี้ถือเป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญ
เพราะความเครียดส่วนหนึ่งจะมาจากความคิดที่ตัดสินตัวเองและตัดสินผู้อื่น
การมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมนั้น จะปล่อยวางความคิดต่างๆ เหล่านี้ไปได้เร็วขึ้น

หากวิธีการฝึกให้จิตกลับมาอยู่กับปัจจุบันโดยใช้ร่างกายเป็นจุดรวมของจิตแล้วนั้น เราทำได้ตลอด ไม่ว่าเราจะทำอะไรและไม่ว่าจะไปที่ไหน เราใช้ร่างกายของเรา เรากิน เราพููดคุย เราฟัง เราอาบน้ำ เราทำสะอาด เรานั่ง เราวิ่งและเราก็อาจนั่งสมาธิ ทุกๆวัน

การฝึกเจริญสติไม่ได้ทำได้เพียงแต่ในรูปแบบของการนั่งสมาธิแบบต่างๆ สแกนร่างกาย หรือนับลมหายใจ ฯลฯ เท่านั้น แน่นอนว่าการขึ้นข้างต้นนั้น ส่งเสริมให้การเฝ้าดูจิตทำได้ง่ายขึ้นมากกว่าอยู่ในรูปแบบเคลื่อนไหว แต่การฝึกที่ไม่มีรูปแบบก็สามารถฝึกได้ตลอด

เวลา โดยการฝึกชะลอ หยุดใส่ใจกับสิ่งที่เรากำลังกระทำ และดึงจิตมาตามรู้การเคลื่อนไหว และความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย อย่างเช่น ในขณะที่เรากำลังมองสิ่งต่างๆ กำลังฟังเสียงบางอย่าง ขณะที่เรากำลังลิ่มรสและเคี้ยวอาหาร ขณะที่เรากำลังสัมผัสสิ่งต่างๆ ด้วยผิวกายและเฝ้าดูประสาทสัมผัสต่างๆ

ดังนั้นเมื่อชีวิตต้องเผชิญกับความยุ่งยากมากเท่าไหร่ แล้วเราขาดสติไม่รู้เท่าทันตัวเอง ก็จะทำให้ความเครียดสะสมมากขึ้นเท่านั้น เพราะจิตเรามีแนวโน้มที่จะคิดวุ่นวายไปมา คิดหมกมุ่นไปในอนาคตที่อาจจะเป็นด้านลบ แต่ถ้าเราจับได้และเท่าทันความคิดลักษณะนี้ เราก็จะสามารถพลิกสถานการณ์ที่เป็นอุปสรรคนั้นให้เป็นโอกาสที่จะช่วยให้เรา ช้าลงได้ฝึกสติ ดึงจิตกลับมาอยู่กับเนื้อตัว และปัจจุบัน

เมื่อวานผู้เขียนนั่งอูเบอร์กลับบ้าน ไปกับผุ้โดยสารอื่นอีกสองคน รถวิ่งผ่านถนนที่แคบมากกว่าปกติ ข้างขวาของถนนมีรถจอดเต็มข้างทาง
คนในรถต่างก็อุทานออกมาเหมือนกันว่าถนนแคบมาก คนขับรถลดความเร็วลงทันใด โดยเปลี่ยนเป็นความเร็วเท่าระดับคนเดิน ผุ้เขียนก็พูดขึ้นมาว่า “โอ้โห” และคนขับก็พูดว่า “โหดจัง ไม่ง่ายเลยนะเนี่ย” และก็ขับแบบไม่พูดคุย แต่ระมัดระวังเป็นอย่างมาก ผู้หญิงคนที่บ้านอยู่บนถนนเส้นนั้นบอกว่า “รู้มั้ยที่แปลกใจก็คือ ฉันไม่เคยเห็นรถที่จอดอยู่นี่สักคันกระจกข้างแตกหัก.

จากภาพที่เห็นตรงหน้า ผู้เขียนเห็นความคิดโผล่ขึ้นมาว่าทันทีว่า เหตุการณ์แบบนี้เปรียบเสมือนตอนที่เราบาดเจ็บ หรือร่างกายมีปัญหา เช่นเราอาจปวดหลังหรือขาทำงานได้แค่ข้างเดียว ร่างกายมีข้อจำกัด หรือ ถูกบังคับให้ต้องเคลื่อนไหวช้าลง ในสถานการณ์แบบนี้ สิ่งที่เราทำได้คือช้าลงและระมัดระวังก่อนที่จะเคลื่อนไปข้างหน้า นับเป็นโอกาสที่จะช่วยให้เราฝึกเเจริญสติได้เป็นอย่างดี

ผู้เขียนแสดงความในใจนี้กับคนในรถ ผู้หญิงคนที่มีบ้านอยู่บนถนนสายนี้ พูด ด้วยน้ำเสียงที่ครุ่นคิดว่า “ ฮึมม…จริง น่าคิด ” …“เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง

รับมือกับความเจ็บป่วยและดูแลมะเร็ง อย่างมีสุขภาวะด้วยสติและการรู้เท่าทันตัวเอง

สัมภาษณ์ อรทัย ชะฟู เจ้าของหนังสือ “ วันนี้คือของขวัญที่ดีที่สุด” และ “ ความรักอยู่รอบตัวเรา” ประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับมะเร็ง
มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เป็นมะเร็งที่ปอด อยู่ 3 ปี เมื่ออายุได้ 32 ปี วิ่งร่อนหาทางรักษาทุกๆ แบบทั้งทำ คีโม และแพทย์ทางเลือกทุกๆ ทาง เวลาแบบนั้นมันทำให้เรากลัวมาก ใครมาเสนออะไรก็ทำ ก็เลือก ซื้อยาบำรุง หินบำบัด ราคาแพงๆ ก็ซื้อหมด ไปหาพระ หาเจ้า หาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็ต้องไปหาจิตแพทย์ด้วย เพราะเครียด ซึมเศร้า กลัวไม่อยากมีชีวิตอยู่เป็นคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ อยากฆ่าตัวตาย นอนไม่หลับ แล้วจิตแพทย์ก็เลยช่วยรักษา ให้ยาแล้วก็หลับได้ หลับตลอด พอตื่นก็เบลอๆ สมองจำอะไรไม่ได้ เดินเหมือนคนไม่มีสติ พอเริ่มหลับยากขึ้น จิตแพทย์ก็เพิ่มปริมาณยาให้หลับขึ้นอีก ทำให้หลับมากเกิน จนคนใกล้ชิดบอกว่าต้องเลิกแล้ว

จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจโยคะและการเจริญสติ
หลายคนพูดถึงประโยชน์ของโยคะ ก็เลยรู้สึกท้าทายเลยลองฝึก ฝึกช่วงแรกก็ฝืนตัวเองมาก เคยเห็นครูเกดสอนในทีวีก็ทำตามบ้าง จนครูมาอยู่เชียงราย เห็นครูมาทานข้าวที่ร้านมังสวิรัติก็ได้รู้จักกันจริงๆ
พอได้ยินว่าครูจะเปิดสอนที่โรงพยาบาลก็เลยลองไปเรียน
แต่ก็ไม่ชอบเพราะเห็นมันช้ารู้สึกทางเลือกไม่มี โยคะน่าเบื่อ แล้วมีท่าศพด้วย ไม่ชอบเลย ครูเกดแนะนำให้เรียนส่วนตัว เพราะต้องดูแลเป็นพิเศษ และเมื่อได้เรียนกับครู
อย่างสม่ำเสมอ และทำงานด้านในร่วมกันอยู่ 2-3 ปี ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะทางด้านจิตใจ และส่วนของร่างกายเอง ได้เรียนรู้ว่าต้องช้าลง แม้นิสัยจะไม่ชอบทำอะไรช้า แต่พอลุกเร็วๆ เมื่อไหร่จะเสร็จ หน้ามืด ครูต้องจับตัวไว้ โยคะของครูสอนให้ฟังเสียงร่างกาย สอนให้เฝ้าดูความตึง เจ็บ เครียด อย่างผ่อนคลาย ไม่ทำอะไรมากไป น้อยไป โดยเฉพาะกับตัวเองนิสัยปกติคือมักจะทำอะไรมากไปและเร็วไปเสมอ

2.ได้อะไรจากการฝึกโยคะแห่งสติ
หลายคนคิดว่าเรียนกับครูนาน ต้องทำท่าเก่ง สวย ตัวอ่อนแน่นอน แต่ไม่ใช่ เพราะร่างกายเราไม่พร้อมแบบนั้น เคลื่อนหนักๆ เหมือนคนอื่นไม่ได้ เจ็บหน้าอก ครูจะเลือกแบบการสอนที่เหมาะกับเรา ครูไม่ได้เน้นว่าต้องทำท่าที่ถูกต้อง งดงาม อ่อนช้อยอะไรมากมาย เพราะแก่นแท้ในการฝึกโยคะไม่ใช่สิ่งนั้น แต่เรียนรู้ที่จะสงบนิ่ง ยอมรับ และอยู่กับความจริงอย่างผ่อนคลาย ครูเน้นเรื่องการผ่อนคลายมากทั้งกายและจิต การฝึกสติด้วยการเคลื่อนไหวกาย การฝึกลมหายใจ ที่เห็นชัดๆ คือมันก็ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น เส้นเอ็นคลายตัว รู้วิธีจัดการกับตัวเองเมื่อความโกรธเกิดขึ้น .
สิ่งที่ได้จากโยคะ คือค่อยๆ เห็นความจริงของชีวิตที่ชัดเจน จากปลายจมูกของเรา สังเกต เฝ้ามอง รับรู้ความรู้สึกเมื่อก่อนจะหงุดหงิดนะกับคำเหล่านี้ ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องสังเกต เฝ้ามองรับรู้ความรู้สึก และก็ไม่ค่อยเห็นเพราะช้าไม่ได้ แต่ก็ไม่รู้ว่ารีบไปทำไม เราให้ความรู้สึกกับคำว่าช้าแบบลบๆ ยืดยาด เฉื่อยชา อ่อนแอ ไม่มีประสิทธิภาพ เราเลยไม่เห็นความงามของชีวิต โยคะทำให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะกลับมารับรู้ ยอมรับจากการสังเกต เฝ้ามอง ที่สำคัญสุขภาพกายกับจิตเราดีขึ้นตอนหลัง ช่วงนั้นหมอชมว่าปอดดีมาก ไม่มีการขยายตัวของเนื้อร้าย เพราะดำรงจิตได้เป็นปกติดีมากกว่า

3. ประโยชน์ที่ได้จากการศึกษาตัวเองผ่านนพลักษณ์

จิ๋มได้เรียนรู้จักตัวเราเองฟังดูอาจจะธรรมดา เมื่อก่อนเราก็คิดว่าเรารู้จักตัวเราเองแต่แท้จริงแล้วหลอกตัวเอง เรารู้จักตัวเราเองแค่ผิวๆไม่เข้าใจ ถ้าเรารู้จักเข้าใจตัวเรา เราต้องเข้าใจคนอื่นด้วย และการรู้จักตัวเอง เมื่อก่อนเราจะลุยไม่กลัวใคร ต้องเข้มแข็ง จนแข็งกระด้าง ไม่ได้อ่อนโยนกับชีวิตจนเป็นสาเหตุแห่งโรคภัย ขอโทษ ขอบคุณ ขออภัย นั้นพูดไม่เป็น แค้นนี้ต้องชำระ ครูเห็นบุคลิกภาพนี้ของเราด้วย ครูจึงแนะนำให้เราศึกษาตัวเองลงลึก จริงๆ แล้วไม่มีใครสามารถทำร้ายเราได้หรอกถ้าเราไม่ทำร้ายตัวเราเอง ศัตรูที่แท้ก็คือตัวเราไม่ใช่คนอื่น แต่เราจมปลักอยู่กับความแค้น ยืนยันชัดเจนกับความคิด ความจริงของเราเชื่อมั่นมาก แต่มันก็แปลกนะพอเราเริ่มเข้าใจตัวเราเราก็เริ่มเข้าใจคนอื่นๆ และยอมรับในความแตกต่าง

4. ครูเกดนำนพลักษณ์และโยคะมาใช้กับสภาวะร่างกายและจิตใจเราอย่างไร
นพลักษณ์ทำให้รู้จักตัวเองในมุมต่างๆ ที่เราไม่รู้ โดยเฉพาะปมต่างๆ ที่ติดอยู่ในจิตใจ ส่วนวิธีการของโยคะของครูช่วยให้เรา ทำอะไรให้ช้าลง อยู่กับร่างกายและปัจจุบัน มีความรู้สึกตัว ไม่โต้ตอบทันที จับอารมณ์ การกระทำได้ชัดขึ้น รู้เท่าทันการกระทำ เมื่อติดขัดตรงไหนก็จะคุยกับครู แลกเปลี่ยน ปัญหาด้านจิตใจและทำงานกับมันเสมอ กับการตามดูตัวเองครูให้จดบันทึกทุกๆ วัน ถึงอารมณ์ ความรู้สึก การกระทำ ต่อเหตุการณ์ในแต่ละวันที่ทำให้ตัวเอง โกรธ ทุกข์ เพราะมันเป็นกิเลสหลักของเรา และเรียนรู้วิธีช้าลง เฝ้าดูไม่กระทำ จากประสบการณ์จริงในการใช้ชีวิตด้วย หากเมื่อไหร่เราโกรธ เครียด ร่างกายก็จะฟ้อง อาการต่างๆ ที่แย่จะตามมา

แล้วก่อนที่จะมาเรียนกับครูมักจะนอนฝันร้ายเกี่ยวกับเรื่องติดค้างในวัย เด็ก ต่อสู้ดิ้นรน ชก เตะ ต่อย ก็มี หรือนอนไม่หลับ แต่เมื่อได้มาศึกษานพลักษณ์และโยคะปัญหาเหล่านี้ลดลง และหายไป อาจมีบ้างในวันที่จิตใจแย่ จึงต้องพึงดำรงจิตให้ปกติ ให้ได้ ครูสอนให้หายใจลึก ให้ได้หลายรอบก่อนจะโต้ตอบอะไรออกไป ให้ฝึกเจริญสติอยู่กับทุกช่วงขณะ
ทำงานมือ เช่นวาดรูป ปักผ้า และการจดบันทึกช่วยให้เราชัดเจนกับตัวเองมากขึ้น และพฤติกรรมเดิมๆ ลดน้อยลง ฝึกดูจิตและฟังเสียงร่างกายอยู่เสมอทุกวัน
การศึกษาทั้งสองอย่างนี้ทำให้เราพัฒนาศักยภาพตัวเอง ไม่อยู่ในข้อจำกัดของตัวเองเสริมทักษะ
จังหวะชีวิตให้รื่นรมย์ ทุกวันนี้แม้จะไม่ได้เรียนกับครูแล้ว เพราะครูบอกว่าไม่มีอะไรต้องเรียนแล้ว เหลือแต่ว่าต้องไปลุยในสนามจริง ช่วยคนอื่นต่อตามเหตุปัจจัย แต่ต้องไม่ลืมดูแลตัวเอง ไม่ประมาท
คนรอบข้างบอกว่า เราไม่เหมือนคนป่วยเลย เรายิ้มง่าย มันไม่ได้เปลี่ยนชั่วข้ามคืน เมื่อก่อน กลัวนะที่จะให้คนอื่นรู้ว่าป่วย ไม่ต้องการความสงสาร รู้สึกมากว่าคนป่วยคือคนอ่อนแอ

มาตอนนี้เรายอมรับการพึ่งพา ช่วยเหลือจากผู้อื่น เรายอมรับความเจ็บป่วย ยอมรับตัวเอง ยอมรับคนอื่นได้ง่ายขึ้นกว่าเมื่อก่อน ประคับประคองอารมณ์ไม่ให้หดหู่หรือสิ้นหวัง พอใจกับความสุขในวันนี้
การเป็นมะเร็งไม่ใช่จุดจบชีวิตเราเสมอไป แต่เป็นการเริ่มต้นใหม่ของชีวิต นี่คือสัญญาณและเสียง
เรียกร้องที่ดังที่สุดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิต มันคงอาจจะไม่ใช่ความบังเอิญ
เราขอบคุณชีวิตมาก ที่ให้ของขวัญกับเราเมื่อเราเจ็บปวด ขอบคุณครูเกดซึ่งเป็นคนแรกในชีวิตที่กอดเรา เป็นคนที่ให้พลังความรู้สึกที่ดีต่อชีวิต เรียนรู้ความอ่อนโยนในตัวเอง
ทุกวันนี้มีความสุขง่ายขึ้น แม้กระทั่งสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ยิ้มกับคนแปลกหน้า บอกทางนักท่องเที่ยว ฟังความทุกข์ของคนที่ต้องการการระบาย….

6. กับประสบการณ์ที่อยู่กับมะเร็งมา 7 ปี จับหลักหรือแก่นสำคัญในการดูแลสุขภาพว่าอย่างไร ?
การที่มีจิตใจที่ดี สามารถ เยียวยาโรคได้ หมอที่เก่งที่สุด คือตัวเราเอง……
แต่ก่อนที่เราจะเป็นหมอที่เก่งเราต้องรู้จักตัวเราเองก่อน
เชื่อมั่นศรัทธา ตัวเอง ปล่อยวางและอยู่อย่างมีความหมาย……..
ทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงตัวเอง ทำทุกวันเป็นวันแห่งความสุข…เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็งและโรคเรื้อรัง อื่นๆ แม้คนที่เรารู้สึกว่าเป็นศัตรูกับเรา เราก็ทำงานคลายปมตัวเองและให้ความกรุณาคนเหล่านั้นได้ เพื่อให้เขาอยู่กับโรคแบบไม่ทุกข์ทรมานและมีความสุข ว้าว……

ชีวิตจะมีความสุขหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมุมมองของเรา มุมมองสำคัญคือการไม่เห็นความเจ็บป่วยหรือกระทั่งความตายเป็น “ศัตรู”อีกต่อไปความเจ็บป่วย เป็นเหมือนของขวัญของชีวิต เป็นสัญญานช่วยให้เราได้ทบทวนชีวิตความเป็นอยู่ โรคร้ายอาจนำพาชีวิตให้เราเห็นมุมมอง
ใหม่ และใช้ชีวิตอย่างมีความหมายกว่าที่เคยเป็น และความตายไม่ใช่ปลายทางที่น่ากลัว หากเป็นสติที่ยิ่งใหญ่ในการ ตั้งคำถามว่า จะใช้ชีวิตอย่างไรเพื่อวันสุดท้ายที่จะมาถึงในไม่ช้าและเป็นวันงดงามสำหรับเรา

อรทัย ชะฟู ผู้เขียนหนังสือ “ วันนี้คือของขวัญของชีวิต”
ประสบการณ์การเป็นมะเร็ง และการดูแลผุ้ป่วยระยะสุดท้าย

เราคือผู้ออกแบบโลกของเราเอง โดย เกศสุดา ชาตยานนท์ บุญงามอนงค์

ไม่มีอะไรหรือใครที่จะมาสร้างโลกภายในของเราได้ นอกจากความคิด และความเชื่อ และการกระทำของเราเอง

ความคิดบางความคิดนั้นมีอิทธิพลอย่างมากต่ออารมณ์และความรู้สึกของร่างกาย
เราจะเท่าทันสิ่งต่างๆ ในตัวเราได้อย่างไร การอ่านหนังสือหรือฟังคนอื่นพูด อาจจะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองได้ระดับหนึ่ง แต่เพื่อที่จะสามารถตระหนักรู้ เท่าทันตัวเองอย่างถ่องแท้และเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่แท้จริง ต้องผ่านการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง

การฝึกการเจริญสติ เป็นอิกวิธีการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ ที่จะช่วยให้เราเข้าใจความจริงแท้ ภายในตัวเอง และยังช่วยให้เราเป็นอิสระจากความความคิดและการกระทำที่สร้างความทุกข์ได้
มีลูกค้าคนหนึ่งมีความทุกข์ เศร้าลึกๆ มาตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นก็พยายามหาทางออก ไปอินเดีย และฝึกสมาธิมาหลากหลายรูปแบบ แต่ก็ไม่ดีขึ้น จนได้มีโอกาสมารับคำปรึกษากับผู้เขียน ผู้เขียนได้แนะนำการฝึกสมาธิแบบลืมตา หรือการเจริญสติแบบยกมือของหลวงพ่อเทียน และนำเทคนิคนี้ไปสู่การเคลื่อนไหวกายแบบต่างๆ ในที่สุดก็ทำให้ชายผู้นี้หลุดออกจากความเศร้าลึกๆ และได้สัมผัสกับความปิติของการมีชีวิตแบบตื่นรู้ อยู่กับปัจจุบันได้

ในเวิร์คช๊อบหลักสูตร การเจริญสติในชีวิตประจำวัน และโยคะแห่งสติ ที่ผุ้เขียนจัดครั้งล่าสุด ที่
อเมริกา ก็มีผุ้เรียนคนหนึ่งที่เป็นผุ้ที่ฝึกโยคะมากว่า 20 ปี
ก็เกิดอาการปิติ น้ำตาร่วงอาบแก้มในระหว่างการฝึกสติแบบยกมือนี้ เธอแบ่งปันหลังการฝึกว่า เธอรู้สึกสงบ นิ่ง ผ่อนคลาย จิตที่นิ่งรวมเป็นหนึ่งเดียวกับการเคลื่อนไหวจากการฝึกที่เรียบง่าย พร้อมทั้งน้ำเสียงของผู้เขียน ที่เอื้อต่อความรู้สึกที่ผ่อนคลาย ณ ห้วงขณะเวลานั้น เธอประทับใจในวิธีการฝึกแบบยกมือและประสบการณ์ที่เธอไม่เคยได้เรียนรู้ที่ไหนมาก่อน
ยังคงมีตัวอย่างของคนอีกหลายๆ คนที่เคยที่ได้ประโยชน์และประสบการณ์แห่งการตื่นรู้นี้ จากการฝึกสติแบบแนวหลวงเทียน ที่สามารถช่วยให้จิตใจเป็นอิสระจากความกังวล หม่นหมอง ช่วยรักษาอาการทางจิตใจ ที่นำไปสู่ความเจ็บป่วยทางกาย หลวงพ่อเทียน จิตตุสุโภ เจ้าอาวาสวัดสนามใน

(2454 – 2531) เป็นพระนักปฏิบัติที่มีชื่อเสียงในการสอนเรื่องการเจริญสติ หลวงพ่อถือว่าเป็นต้นแบบที่เน้นการสอนการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว ที่สอนจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง โดยเฉพาะการยกมือ ซึ่งผู้เขียนนั้นโชคดีมากที่ได้มีโอกาสได้เรียนกับท่านที่วัด ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต สองปีให้หลัง และนี่คือแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดหลักสูตรและหนังสือ “โยคะแห่งสติ” นพลักษณ์เพื่อการรู้จักตัวเอง และหลักสูตรการบำบัดต่างๆ
ส่วนตัวผู้เขียนเองผ่านพ้นช่วงแห่งความทุกข์ที่ถือว่าหนักที่สุดมาได้ ก็จากการฝึกเจริญสติแบบนี้
เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วผู้เขียนเคยมีอาการหมดไฟ เกิดอาการซึมเศร้าจากการทำงานมากไป ขาดการดูแลร่างกาย ฝืนตัวเองให้ทำงานแม้ว่าจะเป็นไข้ไม่สบาย อาหารก็ไม่พอ สิ่งที่ทำให้จิตตกมาก คือ ร่างกายอ่อนเพลียมาก กินไม่ได้ นอนไม่หลับ แต่ก็ยังพยายามฝึกโยคะและสมาธิอยู่ แต่ก็ไปไม่รอดเพราะเรี่ยวแรงมีไม่พอ น้ำหนักลดลง ร่างกาย ระบบขับถ่าย ต่างๆ แปรปรวน และไม่มีแรงจูงใจที่จะทำอะไร ไม่ต้องการที่จะเป็นใคร ไม่เหลือความสามารถที่จะรู้เท่าทัน ปล่อยให้จิตตกจมดิ่ง จนกระทัี่งส่งผลกระทบต่อระบบในร่างกาย เพื่อนสนิทที่เป็นหมอสั่งให้ใช้ยานอนหลับ และผู้เขียนก็ยอมตามเพราะเป็นเพื่อนที่รักและวางใจ
ผู้เขียนก็ตั้งใจไว้แน่นอนว่าจะต้องหลุดออกจากสภาวะนี้ให้ได้
เทคนิคการเจริญสติที่เคยฝึกมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยกับหลวงพ่อเทียนเขมานันทะเมื่อ 20

กว่าปีก่อน ก็ได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันตั้งแต่นั้น
เมื่อใช้ยานอนหลับและหลับได้ ร่างกายพอมีแรงขึ้นมา
และรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรให้ต้องเองกลับสู่สภาวะปกติ ช่วงนั้นร่างกายยังเหนื่อยง่าย ความเศร้ายังวนเวียนอยู่ จิตใจยังไม่แจ่มใส ร่างกายและจิตนั้นสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง
ในช่วงบางเวลาระหว่างวัน ชุดความคิดด้านลบต่างๆ จะโผล่ขึ้นมา เช่น ชีวตินี้ไม่มีอะไรน่าสนใจ ทำตามความฝันหมดแล้ว แล้วจะอยู่ต่อเพื่ออะไร ความคิดเกิด อารมณ์เศร้าก็เกิดขึ้น ส่งผ่านสู่ร่างกาย พร้อมกับอาการหวิวๆ ในท้อง กล้ามเนืือล้า หายใจระรวยและอาการหมดแรงก็จะตามมา ผู้เขียนจัดวางพื้นที่ของชีวิตใหม่ จัดกิจวัตรประจำวันต่างๆ ใหม่ให้ธรรมดา เรียบง่าย เหมาะกับฝึกเจริญสติในทุกขณะ
หัวใจสำคัญของการฝึกสติแบบนี้คือ ฝึกดึงจิตให้มาอยู่กับความรู้สึกของร่างกาย ร่างกายที่เคลื่อนไหวหรือหยุดนิ่ง โดยเฉพาะเวลาที่เห็นความคิดด้านลบที่ส่งผลต่อกาย คิดปุ๊บ เห็นปั๊บ พลิกมือปั๊บ เคาะนิ้วบนโต๊ะ เคลื่อนนิ้วมือ ลุกเดิน หรือเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ โดยให้จิตไปตามรู้ร่างกายที่กำลังเคลื่อนไหวนั้น
กระพริบตาก็รู้ นั่งลงก็รู้ ยกมือรู้ วางมือรู้ ก้าวเดิน แกว่งแขน ส่ายหัว หายใจเข้า ออก ลมพัดเย็นๆ ผ่านผิวกายรู้ ทำสิ่งต่างๆ ใดๆ รู้หมด ให้เกิดความรู้สึกตัวล้วนๆ หลวงพ่อเทียนเรียกสิ่งนี้ ว่า “รู้

เฉยๆ” “รู้ซื่อๆ, ตรงๆ” เรียกว่า เห็น สักแต่ว่าเห็น ได้ยิน สักแต่ว่าได้ยิน ทุกผัสสะที่เข้ามาก็รับรู้มันตามที่เป็น ฝึกจิตไม่ให้ตัดสิน กายและใจตามกันไป ตัวรู้ ตัวเห็นที่ว่านี้คือสติ สภาวะนั้นจิตเป็นหนึ่งเดียวกับร่างกาย จิตเป็นอิสระจากความคิด ความเชื่อต่างๆและฝึก จดจ่อต่อเนื่องก็เกิดสมาธิ และเกิดความเข้าใจที่เราเรียกว่าปัญญา ที่ทำให้เราเห็นความจริงแท้ของธรรมชาติ ของชีวิต ทีทุกสิ่งไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และเห็นว่าเรายึดติดอะไรไม่ได้

ผู้ฝึก ฝึกเช่นนี้ตลอดทั้งวัน หลุดไปก็ทำใหม่ โดยที่กิจวัตรประจำวันต่างๆ ก็ดำเนินไปตามปกติ จะลุก นั่ง ยืนเดิน ทำงานบ้าน กิน นั่งเฉยๆ อยู่ในห้องน้ำ อาบน้ำ ก็ฝึกได้
เวลาผ่านไปหนึ่งเดือนรุ้สึกจิตที่แจ่มใสขึ้น ร่างกายมีเรี่ยวแรงดีขึ้นตามมาเรี่อยๆ และก็เริ่มลดยานอนหลับลงเมื่อเข้าสู่เดือนที่สอง จนกระทั่งเลิกเลยเมื่อเข้าสู่เดือนที่สาม ออกกำลัง จัดกิจวัตรประจำวันให้เอื้อต่อการนอนหลับ ออกกำลัง ดูแลจิตให้ผ่อนคลาย ทำเทคนิคการผ่อนคลายอย่างลึก และผู้เขียนเพิ่มการฝึกแบบเตรียมตัวก่อนตายไปด้วย นั่นคือเครื่องมือที่สำคัญเพื่อเป็นการปล่อยวางทั้งหมด และทำให้เราหลับลงไปได้อย่างไม่ต้องพึ่งพายานอนหลับอีกต่อไป และร่างกายเข้าสู่สภาวะปกติ จิตใจแจ่มใส ความคิดสร้างสรรค์อยากทำโน่นนี่ก็กลับมา แถมด้วยความรักและขอบคุณในชีวิต ผู้เขียนทุ่มเทให้กับการดำรงอยู่ ณ ปัจจุบัน เห็นว่าชีวิตเรานั็นมีอยู่และจับต้องได้เพียงขณะเดียวจริงๆ
ประสบการณ์แห่งความทุกข์ครั้งนั้น ให้ชีวิตใหม่ที่มีคุณค่า และเป็นอิสระ ตระหนักรู้ถึงพลังและความสัมพันธ์ของความคิดและร่างกาย และรู้ว่าเราต้องดูแลตัวเองอย่างไร และค้นพบวิธีที่จะมีชีวิตอย่างตื่นรู้ สดใหม่ทุกขณะ ปล่อยวางและศิโรราบกับตัวตน สถานะ และสิ่งสะสมต่างๆ เกิดความอ่อนโยน กรุณาต่อตัวเองและชีวิตอื่นได้อย่างแท้จริง ช่วยให้เรามั่นใจเต็มเปี่ยมว่า ความสงบสุข และแจ่มใสที่แท้นั้นไม่ต้องไปไขว่คว้า จากสิ่งใด และก็ไม่มีใครสร้างให้เราได้ เราทำเองและเราก็เห็นเองรู้สึกเอง

(ปัจจัตตัง)
ผู้เขียนก็ได้เริ่มงานบำบัดสำหรับผุ้คนที่มีปัญหาทางจิตใจ มีคามเครียด ซีมเศร้า อารมณ์รุนแรงต่างๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ด้วยการใช้แนวทางการฝึกสมาธิ และเจรฺิญสติหลากหลายรูปแบบ ปรับไปตามความเสภาพที่เหมาะสมของแต่ละคน และพบว่า แนวทางที่ฝึกจากหลวงพ่อเที่ยนนั้นเป็นเทคนิคที่มีเรียบง่ายสุด มีพลัง เป็นหัวใจหลักที่ นำไปใและใช้ได้สำหรับกรณีเร่งด่วน
และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหลักที่ตัดสินใจรับงานจัดตั้งชุมชนบำบัดนานาชาติแห่งการเจริญสติ ที่เชียงราย

เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ก็เพราะด้วยความเชื่อมั่นว่า การเจริญสติจะสามารถช่วยให้ผู้คนผ่านพ้นสภาวะที่ยุ่งยาก รักษาความป่วยไข้ทางจิตใจ และมีชีวิตที่สุขภาวะที่ดีขึ้นได้เรื่อยๆ ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพา สิ่งเสพติด หรือยาต่างๆ ทุกวันนี้มีผู้คนจากทั่วโลกที่ได้ผ่านเข้าร่วมโปรแกรมบำบัดที่ชุมชนแห่งนี้ ได้รับประโยชน์จากการเจริญสติและมีชีวิตที่ดีขึ้น แม้ผู้เขียนจะไม่ทำงานที่นั่นอีกต่อไป แต่วิถีแห่งการเจริญก็ยังต้องดำเนินต่อไป ทั้งต่อตัวผู้เขียนเองและทั้งชุมชนแห่งการเจริญแห่งนี้