ขอบคุณและกรุณา ต่ออารมณ์ด้านลบ

ขอบคุณและกรุณา  ต่ออารมณ์ด้านลบ

โดย เกศสุดา บุญงามอนงค์ …………

คุณมีมุมมองต่ออารมณ์ และความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นในตัวเองอย่างไร?

เวลาที่คุณมีอารมณ์ด้านลบ เช่น มีความผิดหวัง โกรธ ขุ่นเคือง วิตกกังวล โศกเศร้า ละอาย และมีความกลัว คุณคิดและรู้สึกกับอารมณ์เหล่านี้อย่างไร?

คุณเคยมีความคิดตัดสินและต่อว่า หรือต่อสู้อีกทั้งหาทางวิ่งหนีไปจากอารมณ์เหล่านี้หรือไม่? คุณเคยรู้สึกเครียด กังวลจากการมีความคิดและความรู้สึกด้านลบเกิดขึ้นหรือไม่? แล้วบ่อยครั้งแค่ไหนที่คุณเกิดความกลัว และโกรธแล้วมีการกระทำที่เป็นผลลบต่อตัวเองและคนที่คุณห่วงใย?

ความรู้สึกทางอารมณ์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ เรามักจะมีแนวโน้มที่จะชอบและยอมรับอารมณ์ด้านบวกต่อตัวเราและคนอื่น  ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับได้และไม่ผิดอะไร

และเราก็มักจะมีแนวโน้มที่จะหลีกเหลี่ยง ต่อสู้กับอารมณ์ด้านลบที่เราไม่ชอบ และนั่นก็ไม่ได้ผิดอะไรที่เรายอมรับได้ยาก 

ชีวิตคุณจะเป็นอย่างไรถ้าหากคุณสามารถใช้อารมณ์ด้านลบเป็นแนวทางที่จะช่วยให้เข้าใจ ค้นพบตัวเองและสิ่งที่คุณให้คุณค่า ค้นพบความต้องการลึกๆ ที่จำเป็น และหาวิธีดูแลคุณค่าและความต้องการนั้นได้อย่างเหมาะสม

ข่าวดี คุณสามารถที่จะได้รับประโยชน์จากความคิดและอารมณ์ด้านลบ

ความคิดด้านลบบอกถึงแนวคิด ความเชื่อ สิ่งที่เราให้คุณค่า

อารมณ์ด้านลบ บอกถึงความต้องการ (Needs) ที่จำเป็นที่เป็นระดับของความอยู่รอด* ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ ตั้งคำถาม ทำความเข้าใจกับตัวเอง และหาวิธีทางที่จะดูแลตัวเอง

ความเจ็บปวด ความเครียดและอารมณ์ด้านลบต่างๆ นั้นมักจะมาจากวิธีการ มุมมองต่อความคิด ความรู้สึกและการกระทำของเราเป็นส่วนใหญ่ 

ทุกวันนี้คุณอาจจะสังเกตเห็นว่าอัตราส่วนของผู้คนรอบๆ ตัวเรามีความทุกข์ ความเครียดและความวิตกกังวลในชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่เท่านั้น แม้แต่เด็กก็ตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้มากขึ้นด้วย

ถ้าคุณหรือคนรอบตัวคุณกำลังเผชิญหน้ากับความเครียดและวิตกกังวล ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด และไม่ต้องการพึ่งยาเป็นหลัก นี่เป็นวิธีการฝึกที่จะป้องกันและลดความเครียดที่คุณสามารถลองฝึกเองได้

 วิธีการรับมือกับความคิดด้านลบ

  1. เฝ้าดูความคิดที่ตัดสินความคิด ความรู้สึกและการกระทำว่า เวลาที่มันเกิดขึ้น ความคิดนั้นเป็นแบบไหน คิดอย่างไร?
  2. ยอมให้ความคิดนั้นเกิดขึ้น สังเกตว่ามันเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน?
  3. เมื่อความคิดนั้นเกิดขึ้น เฝ้าดูการเกิดขึ้น การดำรงอยู่และการผ่านหายไป สังเกตและจดจำไว้ว่าเมื่อความคิดนั้นเกิด มีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นตามมา ความรู้สึกของร่างกายเป็นอย่างไร และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับอารมณ์ความรู้สึกนั้นเป็นแบบไหน
  4. ตรวจสอบความคิดว่า คิดแบบไหน ความคิดนั้นตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ ถ้าเป็นสภานการณ์ที่มีคนอื่นเกี่ยวข้อง อาจจะลองถามคนนั้นดูว่าที่เราคิดนั้นเป็นจริงตามที่เราเชื่อ หรือคาดไว้หรือไม่ อย่างไรก็ตามความคิดที่เราไม่ชอบหรือความคิดตัดสินนั้นบอกให้เรารู้ถึงแบบแผนความคิด ความเชื่อหลักของเรา ความเชื่อหลักบอกให้รู้ว่าเราคิดกับตัวเองและผู้อื่นอย่างไร
  5. ตั้งคำถามกับตัวเอง ความคิดหรือความเชื่อนั้นมีประโยชน์ไหม?  เมื่อฉันเชื่อแบบนั้นมันเป็นอุปสรรคขัดขวางฉัน ทำให้ฉันไม่สามารถดูแลสิ่งสำคัญในชีวิตฉันหรือไม่?

 

วิธีการรับมือกับอารมณ์ด้านลบ

  1. เมื่อเกิดอารมณ์ด้านลบ ให้สังเกตและตั้งคำถามว่าฉันกำลังมีอารมณ์อะไรอยู่?
  2. อารมณ์นั้นเข้มข้นแค่ไหน ร่างกายของฉันรู้สึกอย่างไร มันส่งผลกับร่างกายอย่างไร?
  3. ยอมรับและเฝ้าดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกาย ให้เป็นส่วนหนึ่งของปัจจุบันขณะ
  4. ให้เวลากับตัวเองที่จะสังเกตและรับรู้ความรู้สึกในร่างกายอย่างเต็มที่ ประสานลมหายใจเข้าออก เฝ้าดูการเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงและการหายไป
  5. มองให้เห็นและค้นหาว่า อารมณ์ความรู้สึกด้านลบนั้นบอกให้เรารู้ถึงความต้องการที่สำคัญและจำเป็น  มนุษย์ทุกคนนั้นมีความต้องการพื้นฐาน เช่นการยอมรับ ความรัก ความปลอดภัย ความอยู่รอด การพักผ่อน ฯลฯ 

            5.1 อารมณ์ด้านลบเกิดขึ้น นั่นหมายความว่าความต้องการที่สำคัญของเราบางอย่างไม่ได้รับการดูแล

            5.2  อารมณ์ด้านบวกเกิดขึ้น หมายความว่า ความต้องการด้านลึกของเราบางอย่างได้รับการดูแล

     การให้เวลากับตัวเองได้ค้นหาคำตอบจากอารมณ์นั้น เป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ควรหลบเลี่ยง ต่อสู้ ตัดสินและผลักไส

  1. มีความเมตตาและกรุณาต่อตัวเองด้วยการให้เวลาเรียนรู้วิธีที่จะดูแลความต้องการด้านลึกของตัวเอง 
  2. เท่าทันและระวังการกระทำ ลงมือกระทำแบบที่จะทำให้คุณเคารพต่อตัวเอง รักตัวเองและเป็นผลดีต่อสุขภาพ

หากความต้องการนั้นเกี่ยวข้องกับคนอื่น ก็อาจจะต้องบอกกล่าว และร้องขอด้วยความจริงใจและกรุณา 

 

เมื่อเราเท่าทันความคิด เราก็จะรับรู้และเท่าทันอารมณ์และความรู้สึกทางร่างกาย  

เมื่อเรายอมรับ อนุญาตและเท่าทันอารมณ์ความรู้สึกด้านลบเราจะเข้าใจและจัดการดูแลมันได้ดีขึ้น  

การฝึกการเจริญสตินั้นคือการฝึกที่จะยอมรับและเท่าทันกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเรา โดยไม่ตัดสิน ต่อสู้ และหลบหนี

ยิ่งเราฝึกมากเท่าไหร่ เราก็จะมีความกรุณาและเมตตาต่อตัวเองและผู้อื่นมากขึ้น 

เมื่อเราเข้าใจและตระหนักรู้ต่อความรู้สึกและความต้องการที่สำคัญของตัวเองได้มากขึ้นเพียงไร เราก็จะเข้าใจและตระหนักรู้ถึงความรู้สึกและความต้องการที่จำเป็นของผู้อื่นได้ดีขึ้นด้วย

หากวิธีการฝึกที่แนะนำในนี้ยากที่จะทำตามในชีวิตประจำวัน  โดยเฉพาะรายละเอียดที่ซับซ้อนในการฝึกรับมือกับอารมณ์ในขณะที่มันกำลังเกิด   ผู้เขียนยินดีที่จะแนะนำวิธีการฝึกแบบตัวต่อตัว สนใจติดต่อสอบถามหลักสูตรการเรียนเพื่อทำความเข้าใจกับอารมณ์ ความต้องการที่จำเป็นลึกๆ ที่สอดคล้องกับอารมณ์และหาทางดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อสุขภาพที่ดีและชีวิตที่มีสุขภาวะได้ โดยอีเมล์มาที่ yosudabliss@gmail.com ค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียนได้ที่ www.yosuda.com

*ความหมายคือ Needs ซึ่งหมายถึงความจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์ ที่ต่างไปจากความต้องการทั่วไป (อยาก) Wants 

เช่นเราต้องการอาหาร เพื่อดูแล Need หรือความต้องการที่จำเป็นเพื่อที่จะอยู่รอดนั่นเอง

Leave a Reply

Your Email address address will not be published. Required fields are marked *