ตั้งแต่ปี 2529 มาจนถึงปีนี้ 30 ปีแล้วค่ะที่ผู้เขียนมีโยคะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต รู้สึกว่าตัวเองนั้นโชคดีเหลือเกินที่ได้รู้จักกับเครื่องมือที่ดีในการดูแลสุขภาพ ที่สามารถนำติดตัวไปใช้ได้ในทุกที่ทุกเวลา เป็นหลักปรัชญาในการใช้ชีวิต เป็นแนวทางดูแลร่างกายและฝึกจิตให้มั่นคง ประโยชน์ที่ได้จากมีโยคะนั้นคุ้มค่ีาจริงๆ ผู้เขียนรับรองได้เลยว่า จากที่เคยเป็นคนที่คิดมาก จิตกระโดดไปมา ไม่อดีตก็อนาคต ป่วยง่าย แพ้ง่าย ไม่แข็งแรง การฝึกอย่างต่อเนื่องช่วยสุขภาพดีขึ้นเรื่อยๆ ให้จิตใจมั่นคงขึ้น อยู่กับปัจจุุบันได้ดีขึ้น มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่สูงขึ้น มีสมาธิดี และสติตื่นรู้แจ่มชัดขึ้น จิตใจสงบนิ่งผ่อนคลายได้มากขึ้น ที่สำคัญคือสามารถเรียกตัวเองว่าเป็นคนที่มีสุขภาพดี และแข็งแรงมาอย่างสม่ำเสมอ เนื้อตัวเบา ยืดหยุ่น รูปร่างดี สมส่วนและ การฝึกฝน เรียนรู้ และนำโยคะอย่างเป็นองค์รวมมาใช้อยุ่เสมอ ช่วยผ่อนคลายจิตใจอารมณ์ ได้อย่างดีเยี่ยม ผลตรวจสุขภาพหลังการคลอดลูกของผู้เขียน ทุก 4-5 ปี ผ่านมาแล้ว 3 ครั้ง พบว่า อายุร่างกายน้อยกว่าอายุจริงเกือบ 20 ปี ขบวนการเผาผลาญอาหาร (metabolism age) เท่าคนอายุ 27 ผิวหนังเท่าคนอายุ 35 ระบบประสาท การทรงตัว ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและข้อต่อ การทำงานของหัวใจ การไหลเวียนและความดันโลหิต เท่าคนอายุ 28 เมื่อตอนอายุ 47 ปี และสถิติที่ตรวจก่อนหน้านี้ แต่ละครั้งก็จะไม่ต่างกันมาก ถึงแม้ว่าหากไม่เคยตรวจด้วยเครื่องมือแพทย์เลย ผู้เขียนก็รู้ได้เองว่า เป็นคนที่เดินเหินได้คล่องแคล่ว ตัวเบา เสมือนว่าไม่ต้องแบกร่างกายอะไรมากมาย
แน่นอนว่าการฝึกฝนและเรียนรู้ หรือการนำโยคะมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่เช่นนั้นไม่ว่าผู้เรียนจะฝึกมากมาย หรือยาวนานเพียงใด มันก็อาจจะไม่ได้รับผลสัมฤทธิ์อย่างที่ควรจะได้จากศาสตร์นี้
ผู้เรียนแต่ละคนอาจจะสนใจฝึกโยคะด้วยเหตุผลที่หลากหลายต่างกัน หากผู้เรียนยังมีเวลามากมายในที่ชีวิตที่จะลองถูก ลองผิด และเรียนรู้วิธีการฝึกที่หลากหลาย ก็ไม่ได้เสียหายอะไร ตราบใดที่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงต่อร่างกาย เสียสุขภาพ เสียเวลา หรือเงินทองเพื่อรักษาตัวเองจากการฝึกที่หักโหม ฝึกท่าที่ยากและฝึนตัวเองจนบาดเจ็บ
แต่ถ้าผู้เรียนไม่อยากเสียเวลา หรือมาถึงจุดที่อิ่มตัวกับการทำท่าอาสนะยากๆ ได้หมดแล้ว มีผู้เรียนจำนวนมากที่เรียนจบหลักสูตรแล้ว เป็นครูโยคะแล้วก็มี แต่สุขภาพก็ยังไม่ดี ยังไม่ได้รับผลตามที่ควรจะได้ ยังจัดการกับอารมณ์ตัวเองไม่ถูก ยังไม่เข้าใจความสัมพันธ์ของกายจิต หรือหาสมดุลในตัวเองไม่ได้ นั่นเป็นจุดที่เราต้องเริ่มตั้งคำถาม เพราะเป้าหมายของการฝึกโยคะคือการรับรู้ภายในตัวเองได้ดีขึ้น และหากเรามองหาแนวทางการฝึกที่จะช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีขึ้น เราควรจะฝึกแบบไหนล่ะ เพื่อที่จะได้รับผลตามที่ต้องการนี้
ในห้องเรียนโยคะหลายแห่งในปัจจุบัน มุ่งสอนท่าที่ทำให้ร่างกายส่วนเดียว หรือไม่กี่ส่วนทำงาน อย่างหนัก เช่น แขน ขา เข่า ไหล่ และก็มุ่งฝึกกันจนบางทีถึงกับบาดเจ็บ มุ่งฝึกให้จิตไปสนใจและรับรู้ภายนอก เปรียบเทียบกับผู้อื่น โดยไม่ได้ตั้งคำถามเลยว่า อาสนะนั้นออกแบบมาเพื่ออะไร และทำงานกับส่วนไหนของร่างกาย
เราฝึกอาสนะมากมายแต่เราไม่เคยรู้จักที่วิธีที่จะฟังเสียงร่างกาย
มันจะเป็นอย่างไรหากเราฝึกแบบค่อยเป็นค่อยไป ฝึกด้วยแนวทางแห่งการเจริญสติ ที่เรียกว่า mindfulness yoga ซึ่งขณะนี้ในต่างประเทศได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะการฝึกแบบนี้เป็นการช่วยพัฒนาการรับรู้ร่างกาย ช่วยให้เราเข้าใจความคิด อารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง รู้ความเหมาะสมของตัวเอง รู้ว่าเราจะดูแลตัวเองอย่างไร ให้มีความสุข แน่นอนว่าการมีครูที่คอยชี้แนะที่เข้าใจและมีประสบการณ์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง
ในยามที่ตึงเครียดในชีวิตประจำวัน เดินทางนานๆ นั่งนาน นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ขับรถเยอะ ฯลฯ กางเสื่อโยคะและใช้เวลาสงบนิ่ง ค่อยๆ เคลื่อนไหว จัดฐานการทรงตัวที่มั่นคงในท่วงท่าต่างๆ และเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย จิตใจ รับรู้ความตึง คลาย หนัก เบา อ่อน แข็ง ลมหายใจช้า สั้น เร็ว ยาว ฯลฯ ตัดการรับรู้ภายนอก ดึงจิตกลับมาอยู่กับปัจจุบัน กับร่างกาย ครั้งแล้ว ครั้งเล่า ปล่อยวางทุกๆ สิ่งที่ผ่านมา และทุกสิ่งที่เราคาดหวัง อยากมี อยากทำ อยากได้ ปล่อยจิตเคลื่อนไหวไปกับกาย พึงพอใจกับการที่เราได้ให้เวลาในการฝึกฝน แล้วเราจะได้สัมผัสกับความสงบ สุขความนิ่งสบายและผ่อนคลายในแต่ละครั้ง
ประสบการณ์การฝึกฝนร่างกายและจิตใจด้วยการใช้เทคนิคโยคะดังกล่าว ทำให้ผุ้เขียนได้ตระหนักอย่างแท้จริงว่า อารมณ์นั้นส่งผลกระทบโดยตรง ต่อร่างกาย และร่างกายเองก็ส่งผลกระทบต่อจิตใจเช่นกัน ร่างกายและจิตใจจึงคือที่พึ่งที่แท้จริงของเรา เป็นเสมือนวัด เป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่เราควรจะให้ความเคารพและดูแลอย่างดี
และการฝึกฝนในแนวทางนี้ ผู้เขียนเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าจะช่วยให้ผู้ฝึกได้เข้าถึงประโยชน์สูงสุดของโยคะได้ค่ะ