ตั้งมั่นบนฐานกายและใจที่มั่นคง โดย เกศสุดา ชาตยานนท์ บุญงามอนงค์

ฝึกอาสนะมากมายไปเพื่ออะไร ?
เกศสุดา ชาตยานนท์ ครูเกด
คนรอบข้าง ใกล้ชิดของผู้เขียนมักจะพูดกับผู้เขียนว่า เมื่อในยามที่มีปัญหารุมเร้า หรืออยู่ในสภาวะหน้าสิ่ว หน้าขวาน ผู้เขียนมักจะสามารถเผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆ ได้อย่างสงบนิ่ง มั่นคง หลายคนรู้ว่าคุณสมบัติเหล่านี้มากจากการหมั่นฝึกสติ และการฝึกโยคะด้วยสติ
เมื่อพูดถึงการฝึกโยคะ คนจำนวนมากก็จะเข้าใจและคิดถึงภาพของคนทำท่าบิดเนื้อ บิดตัว ต่างๆ ที่เรียกว่า “อาสนะ”
อาสนะ คือเทคนิคหนึ่งของศาสตร์โยคะ มีความหมายหลายอย่าง รากศัพท์ดั้งเดิม มาจากคำว่า “อาส” ซึ่งหมายถึง “ท่านั่ง” หรือ”ที่นั่ง” 
ในตำราโยคะสูตรให้ความหมายอาสนะว่าคือ “ สถิรํ สุขํ อาสนัม” (Sthira Sukham Asanam
สถิรํ หรือ เสถียร หมายถึง มั่นคง, แข็งแรง, กล้าหาญ, แน่วแน่
สุขํ ถึง ผ่อนคลาย, ความสุข, ความสบาย, ปิติ, อ่อนโยน, ดี, 
อาสนัม หรือ อาสนะคือ ท่าทาง, ท่วงท่า, อยู่, ณ ปัจจุบันขณะ 
มีการตีความจากตำราหลายเล่มว่า เป็น “การตั้งมั่นในสภาวะดั้งเดิม” หรือ ความหมายที่ผู้เขียนชอบ มาจากสายการฝึกดั้งเดิมที่เน้นการฝึกอย่างเข้มงวด ให้ความหมายของอาสนะว่า เป็นการถอนความสนใจจากสิ่งภายนอกเพื่อกลับเข้าสู่ภายในตนเอง เป็นการวางใจเป็นกลางต่อสรรพสิ่ง 
ผู้เขียนตีความว่า เป็นการฝึกจิตให้อยู่กับความรู้สึกตัวล้วนๆ เมื่ออยู่ในท่วงท่าต่างๆ เพราะฉนั้นหากเราฝึกอาสนะด้วยร่างกายที่นิ่ง มั่นคง แต่จิตใจของเรากระสับกระส่าย มีความคิดมากมาย ไปในอดีต อนาคต วิตกกังวล และละเลยความรู้เนื้อ รู้ตัวในปัจจุบัน จิตไม่นิ่ง นั่นก็ยังไม่เรียกว่าทำอาสนะได้
ประโยชน์ของการอาสนะคือการฝึกกายที่มุ่งผลไปสู่การฝึกจิต ส่งผลดีต่อร่างกายและจิตใจ เช่นการลดความสัดส่ายทางอารมณ์ ความคิด และความไม่สมดุลของร่างกาย 
ลูกค้าที่มาเข้าร่วมการฟื้นฟูหรือบำบัดกับผู้เขียนที่ชุมชนนานาชาติแห่งการเจริญสติ โดยภาพรวมจะมี อยู่สองประเภทที่มีบุคลิกภาพสุดโต่งอยู่สองด้านคือ คนที่อยู่นิ่งไม่ค่อยได้ ต้องเคลื่อนไหวร่างกาย เร็วๆ รออะไรไม่ค่อยได้ คุยเยอะ พูดเร็ว แรงเยอะ ไม่ค่อยมีความอดทน และขาดการจดจ่อ ไม่ค่อยมี

ความระมัดระวังในการเคลื่อนไหวเ ซึ่งอาจจะเรียกว่าHyper active และอีกประเภทตรงข้ามคือ ลักษณะของคนที่ไม่ค่อยอยากจะเคลื่อนไหวร่างกาย อยู่เฉยๆ นิ่งๆ พูดน้อย เคลื่อนไหวช้า เหมือนไม่มีพลัง และเรี่ยวแรงนัก มักเก็บตัว จังหวะการเคลื่อนไหวก็เป็นไปแบบไม่สมดุล
คนทั้งสองกลุ่มมีความเหมือนกันคือ มีสภาพอารมณ์และจิตใจที่ไม่มั่นคง สภาพร่างกายจึงหาความมั่นคงและนิ่งไม่ได้ ความระมัดระวังในการเคลื่อนไหวน้อย กายกับใจเหมือนไปคนละทาง ทั้งสองกลุ่มมีแนวโน้มที่มีความเครียดได้ง่าย ร่างกายเสียสมดุล ความสามารถในการจัดการกับอารมณ์มีน้อย ทำให้มีความวิตกกังวลสูง นอนไม่หลับ ซึมเศร้า 
มีปัญหาความสัมพันธ์ ปัญหากับครอบครัว มีความเจ็บป่วย ร่างกายไร้เรี่ยวแรง อ่อนล้า ปวดหลัง ขา เข่า เรื้อรัง หลายคนใช้อาหารมาแก้เครียด จนน้ำหนักเกิน หรือน้ำหนักลดจนเนื้อติดกระดูก บางคนบ้าออกกำลัง บางคนใช้สารเสพติดเพื่อแก้ปัญหา 
ผู้ที่มาเข้ามารับการบำบัดทุกคนจะได้มีโอกาสได้ฝึกอาสนะที่ถูกวิธี หรือสมาธิ และกิจกรรมแห่งการเจริญสติทุกรูปแบบเป็นกิจวัตรประจำวัน 
เพื่อเป็นการฝึกดึงจิตให้กลับมารวมอยู่ที่ศูนย์กาย ตั้งมั่นอยู่ณเวลานั้นและพัฒนาไปสู่ความมั่นคง ทั้งกายและใจ บ่มเพาะสติ สมาธิ ทำให้มีความระมัดระวังในความคิด อารมณ์ การเคลื่อนไหว การกระทำ และสร้างสรรค์ชีวิตที่มีคุณภาพในที่สุด
เมื่อเราฝึกโยคะอาสนะไปถึงระดับหนึ่ง หรือจนจัดท่าต่างๆ ได้สวยงาม มั่นคง เนื้อตัวอ่อนช้อย โดยเฉพาะคุณคือครูโยคะ เราสามารถที่จะมั่นตั้งคำถามและตรวจสอบความก้าวหน้าในการฝึกโยคะของตัวเองได้จากการใช้ชีวิต การฝึกโยคะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ช่วงเวลาของการอยู่บนเบาะโยคะเท่านั้น เราสามารถที่จะนำวิถีของความมั่นคง ผ่อนคลาย ของโยคะอาสนะไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เสมอ การมีสติระมัดระวังท่วงท่าของร่างกายในแต่ละอิริยาบถ การยืน นั่ง เดิน ด้วยการสร้างฐานการทรงตัวที่มั่นคง และสบาย การไม่ใช้แรงตัวเองเกินความจำเป็นหรือแม้แต่การอยู่ในท่าเดิมนานๆ ใส่ใจการจัดวางตำแหน่งชีวิตที่ไม่สร้างความรุนแรงให้กับสุขภาพ 
เมื่อใดที่เห็นจิตใจวุ่นวาย ปรุงแต่ง อาลัยอาวรณ์ในอดีต วิตกกังวลไปในอนาคต หรือเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหา หรือเหตุการณ์ที่ไม่ได้ ดั่งใจ แต่เรายังคงมีสติ ที่จะดึงจิตให้กลับมาตั้งมั่น อยู่กับร่างกาย หรือที่ลมหายใจได้เสมอ จัดร่างกายให้มั่นคง ผ่อนคลาย มีความสงบนิ่ง มองและรับรู้สิ่ง
ต่างๆ ตามความเป็นจริง ไม่ปรุงแต่ง หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Grounded ที่ให้ความหมายเดียวกับคำว่า แน่วแน่ มั่นคง อยู่กับความจริง จับต้องได้ เป็นตัวของตัวเอง ตั้งมั่นอย่างมั่นคง รู้สึกวางใจ จริงใจกับทั้งตัวเองและผู้อื่น และ เผชิญหน้ากับปัญหาได้อย่างสงบ
การทำท่ายากๆ ได้มากมาย ท่วงท่าที่อ่อนช้อยมั่นคง การมีใบรับรองครูโยคะ 200 หรือ 500 RYT หรือเที่ยวบินที่ฝึกมากมายนั้นจะสร้างความภูมิใจให้เราได้มากยิ่งขึ้น เมื่อได้มาพร้อมกับคุณสมบัติดังกล่าว เพราะนี่คือความก้าวหน้าและความสำเร็จ ที่แท้จริงของการฝึกโยคะ
ขอบคุณ

Leave a Reply

Your Email address address will not be published. Required fields are marked *