ศิลปะของการหายใจ ศิลปะในการปล่อยวางสร้างสุข โดย เกศสุดา ชาตยานนท์ บุญงามอนงค์

ต้นไม้สลัดใบเก่าทิ้ง เพื่อรักษาลำต้นและรอวันให้ใบใหม่ได้ผลิออก สัตว์บางชีวิตต้องสลัดทิ้งคราบเก่า เพื่อที่จะได้ผิวกายใหม่และเติบโตขึ้น
ร่างกายเราจะรู้สึกเบา หากระบบขับถ่ายได้ทำงาน และรู้สึกดียิ่งขึ้นเมื่อได้รับอาหารใหม่ๆ เข้าสู่ร่างกาย เรายังคงมีชีวิตอยู่ได้ เมื่อเราหายใจเข้าแล้วก็ได้หายใจออก
ร่างกายเปรียบเสมือนบ้านที่เราอาศัยอยู่
เราสามารถนำสิ่งของใหม่ๆ เข้ามาในบ้านของเรา หากบ้านมีพื้นที่ว่างที่รองรับ
เช่น ระบบหายใจ การหายใจช่วยให้ชีวิตดำรงอยู่
ร่างกายเราต้องการออกซิเจน ออกซิเจนเป็นอาหารที่จำเป็นที่จะหล่อเลี้ยงให้ระบบต่างๆ ดำรงอยู่
การหายใจเร็วและสั้นร่างกายจะได้รับออกซิเจนในปริมาณน้อย และไม่สามารถขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกได้เต็มที่ ร่างกายก็จะมีกรดแลกติกเกิน ซึ่งทำให้ร่างกายอ่อนแอ ความสามารถในการฟื้นฟูและซ่อมแซมร่างกายน้อยลง นำไปสู่ความผิดปกติและเจ็บป่วยได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วย หรือผู้ที่อยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิตจะพบว่าอัตราการหายใจออกสั้นลงเรื่อยๆ (ค้นอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือ” Tuesday with Morris “ by Mitch Albom )
การฝึกหายใจให้ลึกและยาวช่วยให้ออกซิเจนมีโอกาสเข้าสู่ปอดได้มากกว่าการหายใจปรกติถึง 12 เท่า ช่วยการสูบฉีดของน้ำเหลืองให้ดีขึ้น
ช่วยกำจัดสารพิษ สารเคมีต่างๆ การหายใจออกเป็นการนำเอาก็าซของเสีย คือคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากปอด การหายใจออกตามธรรมชาติ จะมีอากาศที่ตกค้างอยู่ 2,400 ลบ.ซม แต่ถ้าเราฝึกหายใจออกเต็มที่ ของเสียจะตกค้างอยู่ 1,100 ลบ.ซม

ด้วยเหตุนี้ ยิ่งหายใจออกได้มากเท่าไหร่ ของเสียที่ตกค้างก็จะออกไปได้มากเท่านั้น ทำให้เรามีพื้นที่ว่างในปอดที่จะเติมอากาศดี ที่เป็นออกซิเจนเข้าปอดได้มากขึ้นเท่านั้น ผู้เขียนจะเน้นการฝึกลมหายใจหรือปราณยามะ ที่จะ
ช่วยให้อัตราการหายใจออกยาวมากกว่าลมหายใจเข้าได้สองเท่า ที่ในห้องเรียนโยคะ อยู่ทุเสมอ

นอกจากประโยชน์ที่ได้ต่อร่างกายแล้ว การหายใจออกยาวก็จะส่งผลโดยตรงต่ออารมณ์และระบบประสาทต่างๆ
ระบบประสาทผ่อนคลายที่เรียกว่า พาลาซิมพาเธติคจะทำงานได้ดีขึ้น และเมื่อระบบนี้ทำงาน จะ ช่วยลดความตึงเครียด ลดความวิตกกังวล ลดอารมณ์ที่รุนแรง เข้าสู่ความสงบนิ่ง และผ่อนคลาย การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น กล้ามเนื้อต่างๆ คลายตัว เช่นกล้ามเนื้อหูรูด ระบบขับถ่ายดีขึ้น การหลั่งสารคัดหลั่งต่างๆ ดีขึ้น และเมื่อฝึกอย่างต่อเนื่องประจำ จะทำให้ผู้ฝึกมีแรงใจ ความมุ่งมั่นตั้งใจที่ดี ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ที่ดีขึ้น ช่วยพัฒนาพลังสติ สมาธิ และจิตใจให้ละเอียดอ่อน สงบและเข้มแข็งขึ้น ผู้ที่เจ็บป่วย ก็ช่วยให้ร่างกายได้รับการฟื้นฟูจากความไม่สมดุล
เป็นการเติมพลังให้ร่างกายและชีวิต ที่ปลอดภัยและยั่งยืน
หลักการในการฝึกหายใจดั่งกล่าว เปรียบเสมือนกับศิลปะในการดำเนินชีวิต เพื่อที่จะเติมพลัง และรับสิ่งใหม่ๆ ที่ดีเข้ามาในชีวิต เราสามารถจัดสรรให้มีพื้นที่ว่าง ที่โล่ง ด้วยการปล่อยวาง ละทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นละทิ้ง ความยืดมั่นใน ชุดความเชื่อ ความคิด อารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยวางเรื่องราวอดีตที่สะสมให้เกิดอารมณ์ด้านลบตกค้างในจิตใจเป็นเวลานานและส่งผลเสียต่อร่างกาย การปล่อยวางความรู้ เพื่อที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือปล่อยวางวิธีการกระทำเดิมๆ ที่สร้างปัญหาในความสัมพันธ์กับผู้คน และความป่วยไข้

การสะสางข้าวของที่เรามีอยู่ในบ้านหรือที่ทำงานที่เราแทบไม่เคยได้ใช้ประโยชน์มาเป็นปี หรือหลายปี เพื่อสร้างพื้นที่โล่ง ที่สะอาด มีเพียงสิ่งของที่จำเป็น ก็ช่วยให้เราไม่ต้องเสียเวลาในการดูแล ทำสะอาดมากมาย แต่กลับช่วยให้เรามีเวลาเหลือที่จะได้ทำสิ่งดีๆ ที่จะเติมความสุขให้ชีวิตมากขึ้น

ชีวิตคือความเปลี่ยนแปลง ไหลเวียนและเปลี่ยนผ่าน เราขับถ่ายทุกวัน เราหายใจเข้าและออกทุกครั้ง เราผ่านค่ำคืนและเริ่มต้นวันใหม่อยู่เสมอ
เวลาของเราในโลกใบนี้มีจำกัดสำหรับทุกคน เราจะใช้เวลาที่มีอยู่แบบไหน

เราอยากมีชีวิตที่หนัก หรือมีชีวิตที่เบา เราอยากรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต หรือจะใช้ชีวิตกับสิ่งสะสมตกค้าง คุณเท่านั้นคือนักออกแบบชีวิตตัวจริง

One thought on “ศิลปะของการหายใจ ศิลปะในการปล่อยวางสร้างสุข โดย เกศสุดา ชาตยานนท์ บุญงามอนงค์

Leave a Reply

Your Email address address will not be published. Required fields are marked *