Tag Archives: รักตัวเอง

นพลักษณ์แห่งสติช่วยให้คุณเป็นอิสระภาพและตระหนักรู้ต่อตัวเองอย่างไร?

ตอนที่หนึ่ง: วิธีค้นหาบุคลิกภาพหรือตัวตนหลักตามทฤษฏีนพลักษณ์

เกศสุดา ชาตยานนท์ บุญงามอนงค์

นพลักษณ์

เป็นเหมือนศาสตร์ทางจิตวิทยาหนึ่ง ที่นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับมนุษย์ตามบุคลิกต่างๆ ได้อย่างลุ่มลึก หลากหลายมิติและแง่มุม เฉกเช่นเรื่องราวของชีวิตมนุษย์ เป็นศาสตร์ที่ทรงพลังในการศึกษาบุคลิกภาพของคนที่มีเก้าลักษณะ โดยแต่ละลักษณะมีวิธีการมองโลกและกระทำต่อสถานการณ์ต่างๆ ต่างกัน

การเจริญสติ

สติคือ ผู้เฝ้าดู คือความสามารถในการจำได้ ตระหนักและ รับรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อันสัมพันธ์กับตัวเรา และภายในตัวเรา  โดยเฉพาะความคิด ความรู้สึกและการกระทำ ในแต่ละขณะ มองทุกสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงอย่างไม่ตัดสิน  ( หรือถ้าตัดสินก็รับรู้ว่ามีความคิดตัดสินเกิดขึ้น ) การเจริญสติ ก็คือการพัฒนาการดำรงจิตให้อยู่กับปัจจุบัน และรับรู้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายในได้ต่อเนื่องมากขึ้น

นพลักษณ์และการเจริญสติ

การเจริญสติจะช่วยให้ผู้ที่ศึกษานพลักษณ์ เรียนรู้ที่จะช้าลง เพื่อที่จะสังเกต และจดจำความคิด อารมณ์ ความรู้สึกและการกระทำ ไม่ว่าจะเราจะชอบหรือไม่ชอบ ไม่ว่าจะอยากให้มีอยู่หรืออยากจะผลักใส ปิดบังมันเอาไว้ แต่อารมณ์ ความรู้สึกทางร่างกายและการกระทำนั้นเกิดมาจากความเชื่อของเรา ซึ่งบอกให้รู้เกี่ยวกับตัวตนของเรา สติซึ่งเป็นเฝ้าดูจะช่วยให้เห็นความคิดที่เกิดขึ้นตามจริง แล้วเราก็จะค้นพบตัวตน และลักษณ์หลักของเรา โดยเฉพาะรูปแบบความคิดที่มักจะสร้างปัญหาและความทุกข์

นพลักษณ์ มีข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผล เข้าใจได้และตรวจสอบได้เกี่ยวกับรูปแบบความคิด ความเชื่อของคนแต่ละลักษณ์นั้น การฝึกสติร่วมกับการเรียนรู้นพลักษณ์ จึงจะสามารถช่วยให้เราพัฒนาการตระหนักรู้ที่มีต่อตัวเอง กรุณาและยอมรับตัวเอง และผู้อื่น อีกทั้งช่วยฝึกให้เราเป็นอิสระจากความคิดความเชื่อนั้น (ศึกษาเพิ่มเติมในบทต่อไป)

ประสบการณ์ในการเรียนรู้ตัวเองจากผู้เรียนนพลักษณ์คนหนึ่ง

“จากการที่ได้ศึกษานพลักษณ์และทำงานกับตัวเอง มา 20 ชั่วโมงกับครูเกด ถ้าจะบอกว่าเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ก็คงจะพูดได้เต็มปาก เพราะฉันคิดว่า ตัวฉันที่ฉันเคยรู้จัก จริงๆแล้วมันไม่ใช่ฉันในแบบที่ฉันคิด ฉันเคยคิดว่าฉันมีแต่ด้านดีๆมากกว่าด้านที่แย่ และก็คิดเสมอว่าความคิดของฉันนั้นมักจะถูกเสมอ แต่เมื่อได้ศึกษาทำความรู้จักตัวเองจริงๆ ก็พบว่าฉันเสแสร้งและหลอกตัวเอง พยายามที่จะปิดบังซ่อนเร้นความเปาะบาง อ่อนไหวในตัวเองด้วยการแสดงออกว่าเป็นคนที่เข้มแข็ง และมั่นใจในตัวเอง เพราะด้วยความกลัวที่ซ่อนอยู่ภายใน”

ดาวรุ่ง โกลเบ้ นักศึกษาปริญญาโทด้านการให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยา

อาจจะมีคนหลายคนที่คิดเหมือนดาวรุ่งว่า ฉันรู้จักตัวเองดี แต่อาจจะไม่ได้ตระหนักว่าสิ่งที่รู้นั้นเป็นความรู้ที่ผิวเผิน ไม่ใช่ทั้งหมดที่สมบูรณ์เกี่ยวกับตัวเอง

มนษย์เรานั้นมีหลากหลายมิติ หลายแง่มุม มีทั้งด้านที่เราชอบและไม่ชอบ ด้านที่เราเปิดเผยและซ่อนเร้น ซึ่งเหล่านั้นก็ล้วนแล้วแต่สิ่งที่ถูกเรียกรวมว่าเป็นตัวเรา

 ฉันรู้จักตัวเอง เช่น ฉันรู้ว่าฉันชอบและไม่ชอบอะไร ฉันคาดการณ์ได้ว่าฉันจะทำแบบไหน

การรู้เท่าทันตัวเอง: ฉันสังเกตเห็นความคิด อารมณ์ และการกระทำว่าฉันมีแนวโน้มที่จะทำแบบนี้ แบบนั้น ต่อสิ่งที่ฉันชอบหรือไม่ชอบ

การที่จะรู้เท่าทันและเข้าใจตัวเองอย่างลึกซึ้ง ด้วยความเป็นจริงและแท้จริงนั้น คุณต้องการการเรียนรู้นพลักษณ์อย่างมีสติด้วย เพราะการฝึกการเจริญสติจะช่วยให้ผู้เรียนไม่เพียงแต่รู้จักตัวเอง  แต่มีความสามารถในการตระหนักรู้ เท่าทันตัวเอง มีความสามารถที่จะสังเกตความคิด ความรู้สึกทางอารมณ์และร่างกายในแต่ละขณะและสถานการณ์ และรู้ได้ว่ามันส่งผลต่อภาษาท่าทางและการกระทำของเราอย่างไร อย่างไม่ตัดสิน เพิ่มความฉลาดทางอารมณ์และช่วยให้ผู้มีฝึกฝนเรียนรู้มีความเข้าใจและตระหนักรู้ต่อผู้อื่นด้วย

นพลักษณ์เปรียบเสมือนแผนที่ที่ช่วยให้คุณค้นพบแก่นความเชื่อ ทัศนคติ ความคิดที่ติดยึด ( กิเลส) และความรู้สึกทางอารมณ์ที่มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ แล้วยังชี้ถึงแรงจูงใจหรือแรงผลักที่สัมพันธ์กับทัศนคตินั้น กลไกในการป้องกันตนเอง คำพูด หรือความคิดที่อยู่ภายใต้จิตสำนึกที่เกิดขึ้นเสมอและมีอิทธิภาพต่อการแสดงออก อีกทั้งกล่าวถึงคุณธรรมและศักยภาพสูงสุดด้วย

มีคนจำนวนหนึ่งบอกผู้เขียนว่ารู้จักนพลักษณ์มาหลายปี แต่ก็หาลักษณ์หลักไม่เจอสักที หรือบางคน เข้าใจผิดในลักษณ์ของตัวเอง คิดว่าตัวเองเป็นลักษณ์ใดลักษณ์หนึ่ง แต่ปัญหาเดิมๆ ยังคงเกิดขึ้น ดำเนินอยู่วนเวียน หาทางจัดการไม่ได้   ความเข้าใจผิดในลักษณ์หรือการรู้จักนพลัษณ์อย่างผิวเผิน และไม่รู้วิธีการศึกษา เช่นเพียงแค่ทำแบบทดสอบออนไลน์หรือในหนังสือ หรือเพียงแต่อ่านหนังสือ ดูวิดิโอ คุยกับคนเพียงอย่างเดียว ก็อาจจะทำให้ผู้เรียน ไม่สามารถเข้าถึงประโยชน์สูงสุดของเครื่องมือนพลักษณ์ได้ ความเข้าใจผิด ผิวเผินที่จะเห็นได้บ่อย คือการจัดกรอบให้ตัวเองหรือผู้อื่นจากลักษณะพฤติกรรมบางอย่าง และการกระทำบางอย่าง ตามคำเรียกชื่อของลักษณ์นั้นๆ เช่น

  • ฉันเป็นคนชอบทำสิ่งต่างๆให้สมบูรณ์แบบ ถูกต้อง ฉันเป็นคนมีระเบียบ = ฉันเป็นคนลักษณ์หนึ่ง ผู้สมบูรณ์แบบหรือนักปฏิรูป
  • ฉันชอบที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ชอบเป็นผู้ให้ มันรู้สึกดีมากที่ได้เอาใจผู้อื่น = ฉันเป็นคนลักษณ์สอง คือผู้ให้ แม่พระ หรือนักบุญ
  • ฉันทำงานหนัก ประสบความสำเร็จหลายๆ ด้าน และฉันชอบที่จะดูดี = ฉันเป็นคนสาม เป็นผู้มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ หรือเป็นนักแสดง
  • ฉันเป็นคนที่ละเอียดอ่อน มีความคิดสร้างสรรค์ และชอบเป็นคนที่แตกต่าง = ฉันคือคนลักษณ์สี่ เป็นศิลปินและเป็นผู้ที่มีเอกลัษณ์เฉพาะตัว
  • ฉันชอบที่จะอยู่ตามลำพัง คอยสังเกต เก็บข้อมูล ชอบอ่านและคิดมาก = ฉันคือคนลักษณ์ห้า นักสังเกตการณ์ หรือนักคิด หรือผุ้แสวงหาความรุ้
  • ฉันชอบตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ต้องการความมั่นใจว่าสิ่งต่างๆ จะปลอดภัยและเป็นคนที่มีความจงรักภักดี = ฉันเป็นคนลักษณ์หก นักตั้งคำถาม หรือผุ้จงรักภักดี
  • ฉันชอบความสนุก ชอบการผจญภัย และชอบวางแผน = ฉันคือคนลักษณ์เจ็ด นักผจญภัย นักวางแผน หรือ ผู้กระตือรือร้น
  • ฉันเข้มแข็ง ชอบปกป้องผุ้อื่น หรือชอบที่จะเป็นผู้นำ = ฉันคือคนลักษณ์แปด หัวหน้า ผู้นำ หรือผู้ปกป้อง
  • ฉันชอบหลีกเหลี่ยงความขัดแย้ง เป็นคนใจดี หรือ/และ เป็นคนง่ายๆ อะไรก็ได้ = ฉันคือคนลักษณ์เก้า ผู้นิยมคามสะดวกสบาย หรือผู้ใฝ่สันติ

การจัดกลุ่มให้ตัวเองและคนอื่นด้วยข้อมูลหลักๆ เหล่านี้  อาจจะยังไม่เพียงพอและแม่นยำในการค้นหาบุคลิกภาพหลักได้อย่างแท้จริง คุณจำเป็นต้องฝึกสังเกตและรับรู้ถึง ความต้องการ (needs ) แรงจูงใจ ( Motivation, Drive ) ในการกระทำต่างๆ ของคุณ และผู้อื่น อีกทั้งเรียนรู้ นพลักษณ์ด้วยการทำความเข้าใจกับทฤษฏีนี้อย่างเป็นวิทยาศาตร์ คือตั้งคำถามและตรวจสอบ นำไปใช้พิจารณาและฝึกฝนประกอบการเรียนรู้

นี่คือแนวทางต่างๆ ที่คุณสามารถนำไปพิจาณา เรียนรู้ประกอบกับการอ่าน ค้นคว้า และรับฟัง เพื่อที่จะทำความเข้าใจตัวเองและค้นหาลักษณะลักษณ์ของคุณ

  • ฝึกพัฒนาผู้สังเกตภายใน ด้วยการเจริญสติ

ให้เวลากับตัวเองในแต่ละวัน หยุดกิจกรรมทั้งหมด นั่งหรือยืนในท่าที่มั่นคง สบาย ดึงความใส่ใจมาที่ลมหายใจ หายใจลึกยาว หรือตามปกติ ( 5-10 รอบ -ขึ้นอยู่กับเวลาที่ต้องการ) แล้วเคลื่อนความใส่ใจของจิตไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย สังเกตว่าส่วนใน ดึงหรือสบาย หนักหรือเบา หรืออาการต่างๆ สังเกตและรู้สึกกับส่วนต่างๆ ตามที่เป็นจริง   มีความรู้สึกทางอารมณ์อะไรบ้างไหม มีความคิดอะไรเกิดขึ้นบ้าง รับรู้และจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ตามเป็นจริง สุดท้ายก็กลับมาที่ลมหายใจอีกครั้งเท่าที่คุณมีเวลา ฝึกเช่นนี้ทุกวัน วันละสองสามรอบเพื่อพัฒนาการรับรู้ภายใน

  • ทุกครั้งที่มีความเครียดให้สังเกตรูปแบบของความคิดที่ทำให้เกิดอารมณ์ด้านลบอยู่เสมอ ให้จดบันทึกเอาไว้ รูปแบบของความคิดเหล่านั้น เมื่อเราใสใจเฝ้าดูก็จะช่วยให้เราค้นพบทัศนคติ และความเชื่อ ซึ่งในทฤษฎีของนพลักษณ์ได้กล่าวถึงประเด็นความเชื่อของคนแต่ละลักษณ์
  • สังเกตอารมณ์ด้านลบที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในยามที่เราเครียด จดบันทึกไว้ว่าเป็นอารมณ์อะไรสิ่งนี้จะบอกถึงพื้นฐานทางอารมณ์หรือศูนย์พลังหลัก (ศูนย์หัว,ใจ หรือ,ท้อง) ตามทฤษี นพลักษณ์
  • สังเกตวิธีการกระทำที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่ทำให้เราเครียด อย่างเช่นเรามีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยง ต่อสู้ ปรับตัว จมดิ่ง นิ่งเงียบ เก็บตัว ต่อสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร สิ่งเหล่านี้อาจบอกถึงลักษณะการใช้พลังงาน (การกระทำ หรือการแสดงออก) ในลักษณะที่เป็นพลังรุกหรือพลังรับหรือมีทั้งสองอย่างปะปนไป หรือการรับมือในสถานการณ์ที่ต้องป้องกันตัวเอง (Defense mechanism) ไม่ว่าจะเป็นการกระทำแบบไหนล้วนเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราได้เรียนรู้จักตัวเองเสมอ
  • ค้นหาจุดแข็ง จุดอ่อนของตัวเอง ด้วยตัวเองและขอให้คนที่รู้จักคุณดีช่วยหา เปิดใจรับฟัง อีกทั้งสังเกตถึงแนวโน้มในการรับฟังของคุณว่า คุณ ชอบรับฟังในด้านที่เป็นข้อดีมากกว่าจุดอ่อน หรือไม่ยอมรับจุดอ่อน หรือชอบที่จะสนใจในจุดอ่อนมากกว่าจุดแข็ง สังเกต ค้นคว้าและตรวจสอบแน้มโน้มนั้น จะทำให้เข้าใจตัวเองได้มากขึ้นและอาจจะช่วยค้นหาลักษณ์หลักหรือรองได้ ทฤษฏีนพลักษณ์กล่าวถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของคนแต่ลักษณ์ด้วย
  • สังเกตว่าลักษณะนิสัยและการกระทำอะไรของคนอื่นที่คุณไม่ชอบ อึดอัด หรือไม่สบายใจทุกครั้งที่เกิดความรู้สึกด้านลบกับพฤติกรรมของผู้คน ให้จดบันทึกไว้ว่า อะไร หรือความคิดไหนที่ทำให้เราไม่พบใจ   ถามตัวเองว่าคุณคาดหวังอยากให้คนอื่นทำเป็นอย่างไร สิ่งนี้จะทำให้คุณค้นพบความเชื่อ ความคาดหวัง และการให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ ที่คุณชื่นชอบ และพยายามที่จะพัฒนาคุณค่านั้นในตัวคุณเองสิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยให้คุณค้นพบตัวตนหลัก หรือลักษณ์หลักได้เช่นกัน
  • สังเกตดูความคิด และการกระทำที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในเวลาที่คุณอยู่ในสภาพ แวดล้อมที่ปลอดภัย ทำให้เราเป็นตัวของตัวเอง และผ่อนคลาย ซึ่งนพลักษณ์ได้อธิบายถึงในทฤษฎีของลูกศร
  • สังเกตความคิดและการกระทำที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในยามที่คุณอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต้องปรับตัว อึดอัดหรือตึงเครียด หัวข้อนี้ก็เช่นกันสามารถค้นหาขัอมูลจากนพลักษณ์ได้จากทฤษฏีของลูกศร
  • ไม่ว่าในการกระทำใดๆ ของเราล้วนแล้วแต่มีความต้องการเบื้องลึก (needs) ให้สังเกตแนวโน้มของการใส่ใจของจิต การสังเกตนี้จะช่วยให้เราค้นพบศูนษ์พลังหลักและลักษณ์หลักได้ง่ายขึ้น นพลักษณ์แนะนำลักษณะการใส่ใจของจิตของแต่ละลักษณ์

ประโยขน์ที่จะได้รับจากการฝึกเจริญสติกับศึกษานพลักษณ์อย่างต่อเนื่องคือ

  1. มีความเข้าใจ ยอมรับและกรุณาต่อตัวเองและผู้อื่น
  2. มีความสามารถในการเท่าทันและตระหนักรู้ถึง ความเชื่อ อารมณ์และการกระทำของตัวเอง (มีความฉลาดทางอารมณ์)
  3. มีความสามารถในการตระหนักรู้ถึงความเชื่อ อารมณ์และการกระทำของผู้อื่น (มีความฉลาดทางอารมณ์)
  4. ค้นพบวิธีการในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้คนรอบข้าง
  5. สามารถบำบัดและลดความตึงเครียดในชีวิต มีความสุข ความแจ่มใสและสงบในการใช้ชีวิตได้มากขึ้น
  6. ตระหนักรู้ เท่าทันและเข้าใจปัญหาที่ซ่อนเร้น อันเป็นสาเหตุของความเครียดและปัญหาในความสัมพันธ์
  7. พัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีต่อตัวเอง ผู้อื่นและการงาน
  8. มีความยืดหยุ่นในการใช้มองโลกและใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น
  9. ช่วยให้ค้นพบและพัฒนาศักยภาพสูงสุดของตัวเอง และนำไปสู่การใช้ชีวิตได้ตามที่มุ่งหวัง ตามคุณค่าที่วางไว้

ถ้าคุณยังไม่พบลักษณ์หลัก หรือถ้าคุณรู้จักลักษณ์ของคุณ แต่ยังไม่สามารถค้นพบศักยภาพของตัวเอง ไม่สามารถจัดการและรับมือกับปัญหาความสัมพันธ์ และยังคงเครียดกับการตัดสินต่อตัวเองและผู้อื่น ถ้าคุณยังไม่สามารถค้นพบ เข้าใจและเท่าทันในความคิดความเชื่อและแรงจูงใจในการกระทำ ว่ามันส่งผลต่อการกระทำในชีวิตเราอย่างไร หรือคุณต้องการเรียนรู้ว่าจะใช้นพลักษณ์ะอย่างไรเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด

หากคำแนะนำเหล่านี้ซับซ้อน ยากแก่ความเข้าใจ ผู้เขียนแนะนำให้หาครูหรือโค้ชผู้มีทักษะ ประสบการณ์ และความรู้ ด้านการเจริญสติและนพลักษณ์ ครูและโค้ชที่มีทักษะในการฟังคุณได้อย่างเต็มที่ ไม่คิดแทน ตั้งคำถามเป็น ไม่ตัดสิน เป็นผู้ที่คุณสามารถเชื่อถือได้ และเป็นผู้ปฏิบัติเฉกเช่นที่ได้ให้คำแนะนำกับผู้อื่น

—————

ติดตามตอนต่อไป: หนทางไปสู่อิสระและผ่อนคลายจากตัวตน จากการศึกษานพลักษณ์ด้วยแนวทางแห่งสติ

ผู้เขียน เกศสุดา ชาตยานนท์ บุญงามอนงค์ ครูเกด

ครูผู้มีประสบการณ์ในการสอนการเจริญสติ และโยคะมามากกว่า 20 ปี  ผู้เขียนหนังสือ”โยคะแห่งสติ” และครูผู้สอนนพลักษณ์มา 17 ปี   ครูเกดนำทั้งสองศาสตร์นี้ไปใช้ในงานบำบัดและการให้คำปรึกษากับผู้ที่มีความเครียด ทางจิตใจและร่างกาย ปัญหาในความสัมพันธ์และการพัฒนาตนเอง